Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยพรรณนาเชิงภาคตัดขวาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพการนอนหลับและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของเจ้าพนักงานและพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างเป็นเจ้าพนักงานและพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรุงเทพมหานคร จำนวน 472 คน คัดเลือกโดยใช้วิธีสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ ทำการศึกษาระหว่าง เดือน มกราคม ถึง มีนาคม พ.ศ. 2566 แบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูลปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านการทำงาน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และละแบบประเมินคุณภาพการนอนหลับฉบับภาษาไทย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ประกอบด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างตัวแปรสองตัว และวิเคราะห์การถดถอยลอจิสติกเชิงพหุ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี จำนวน 208 คน (ร้อยละ 44.1) เมื่อควบคุมตัวกวนแล้วพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีในทิศทางเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีความขัดแย้งกัน (OR=1.78, 95%CI:1.09-2.93) การทำงานเสริมช่วงเวลาระหว่าง 8.00 - 20.00 น. (OR=2.36, 95%CI:1.27-4.39) การทำงานเสริมหลังเวลา 20.00 น. (OR=4.26, 95%CI:1.08-16.73) ห้องพักเวรที่มีเสียงดัง (OR=1.72, 95%CI:1.07-2.76) และห้องพักเวรที่มีความไม่สะดวกของเครื่องนอนขณะนอนหลับ (OR=2.98, 95%CI:1.82-4.91) ดังนั้นองค์กรควรส่งเสริมนโยบายการพัฒนาคุณภาพการนอนหลับ โดยมุ่งเน้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะดังกล่าว ได้แก่ ผู้ที่ทำงานเสริม ควรส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี เพื่อให้บุคลากรมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีต่อไป