Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการประเมินผลกระทบของโครงการนำร่องเงินโอนอย่างมีเงื่อนไขแบบชุมชนของประเทศแทนซาเนียต่อผลลัพธ์ทางด้านสุขภาพของครัวเรือน 5 ด้าน ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของเด็กแรกคลอด 7 ด้าน ผลลัพธ์ด้านการศึกษา 4 ด้าน และผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน 4 ด้าน โดยใช้ชุดข้อมูลทุติยภูมิที่ทำการสำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2555 ทั้งหมด 3 รอบสำรวจ สำหรับกลุ่มตัวอย่างในวิทยานิพนธ์นี้ คือ ครัวเรือนที่ให้สัมภาษณ์ครบทั้ง 3 รอบสำรวจ ประกอบไปด้วยกลุ่มได้รับประโยชน์จากโครงการ 1,510 คนจาก 795 ครัวเรือน และกลุ่มไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการ 3,093 คนจาก 828 ครัวเรือน รวมเป็นจำนวน 4,603 คน จาก 1,689 ครัวเรือน วิทยานิพนธ์นี้ใช้ทฤษฎีฟังก์ชั่นการผลิตในการอธิบายปัจจัยที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ต้องการศึกษา และประมาณการผลลัพธ์ด้วยแบบจำลอง Difference-in-Differences ผลการศึกษา พบว่า ในด้านสุขภาพ กลุ่มได้รับประโยชน์ในภาพรวมมีการรับประทานยาขณะป่วยและเต็มใจจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น และเด็กแรกคลอดมีดัชนีส่วนสูงเทียบอายุ และส่วนสูงเพิ่มขึ้น ในด้านการศึกษา ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนมีความเต็มใจจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการไม่มีผลกระทบต่อผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ยังพบว่า การประกอบอาชีพ การศึกษาที่โรงเรียน ระดับฐานะทางการเงิน และคุณภาพของศูนย์สุขภาพในชุมชน ส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพของกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่สุขภาพของเด็กแรกคลอดมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีชีวิตอยู่ของแม่ การได้รับวัคซีนในสัปดาห์แรก และการไม่มีภาวะบวมน้ำ ส่วนการศึกษาของเด็กนักเรียนมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อสินทรัพย์ของเด็กนักเรียน และการมีบัญชีธนาคาร ผลการศึกษาในวิทยานิพนธ์นี้ชี้ให้เห็นว่าโครงการ TASAF ช่วยเพิ่มพูนทุนมนุษย์ทั้งในมิติสุขภาพ และมิติการศึกษา รวมถึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการสะสมทุนมนุษย์ อันเกิดจากความแตกต่างในระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละครัวเรือนได้ ผลการศึกษานี้มีนัยต่อการออกแบบโครงการเงินโอนอย่างมีเงื่อนไขในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดอื่น ๆ