Abstract:
ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากปี พ.ศ.2552 แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทยเริ่มอยู่ในทิศทางที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการมีคู่แข่งทางการค้าที่มากขึ้นทั้งจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน แอฟริกา และยุโรปตะวันออก ดังนั้น การศึกษาถึงปัจจัยที่กำหนดการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทยจึงมีความสำคัญเพื่อเป็นแนวทางวางนโยบายในการส่งเสริมความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าเกษตร
นอกจากนี้ หากพิจารณางานศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือข้อมูลกระแสการค้าที่มีความสมมาตรหรือมีการค้าตลอดช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม การเกิดข้อมูลกระแสการค้าที่เป็นศูนย์เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นผลจากการที่ประเทศต้นทางมีการค้ากับประเทศคู่ค้าไม่พร้อมกัน หรือประเทศคู่ค้าบางประเทศไม่มีการค้าในบางช่วงเวลา งานศึกษาก่อนหน้านี้พยายามจัดการกับปัญหาข้อมูลกระแสการค้าที่เป็นศูนย์ด้วยการละทิ้งข้อมูลการค้าที่เป็นศูนย์หรือการแทนที่ข้อมูลการค้าที่เป็นศูนย์ด้วยค่าข้อมูลที่เป็นบวกจำนวนที่น้อยแล้วประมาณค่าในรูปแบบสมการเชิงเส้นตรง ซึ่งวิธีการดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมเนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาความอคติของข้อมูล (Selection Bias)
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอเทคนิคการประมาณค่าแบบจำลองแรงโน้มถ่วงกับกระแสการค้าที่เป็นศูนย์ในสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ยางพารา ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลักษณะข้อมูลแบบพาเนลรายปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2562 ด้วยวิธี Heckman Selection Model เพื่อจัดการกับปัญหา Selection Bias รวมถึงประยุกต์ใช้ Heterogeneous Firm Model จากงานศึกษาของ Helpman, Melitz and Rubinstein (2008) เพื่อจัดการกับปัญหา Heterogeneous Bias โดยการเพิ่มตัวแปรระดับผลิตภาพ (Productivity Threshold) ในแบบจำลองที่สะท้อนว่า ประเทศไทยตัดสินใจส่งออกสินค้าเกษตรเมื่อระดับผลิตภาพสูงมากเกินกว่าต้นทุนทางการค้า
จากการศึกษาพบว่า การประมาณค่าแบบจำลองได้รับผลกระทบจากปัญหา Selection Bias และปัญหา Heterogenous Bias ในสินค้าเกษตรทั้ง 3 รายการ โดยปัจจัยที่กำหนดให้ประเทศไทยตัดสินใจส่งออกสินค้าเกษตรพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ระยะห่างระหว่างประเทศ และระดับการเปิดประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรแยกรายสินค้าพบว่า ยางพารา ควรให้ความสำคัญกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าควบคู่กับการให้ความสำคัญกับนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนการผลิตและการตลาดโดยพิจารณาถึงราคาซื้อขายยางพารา ควรยกระดับการเปิดประเทศและสนับสนุนการค้ากับประเทศคู่ค้าเพื่อนบ้านให้มากขึ้น สำหรับข้าว ควรให้ความสำคัญกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การยกระดับผลิตภาพแรงงานการผลิตข้าวของเกษตรกร และขยายการค้าด้วยการยกระดับการเปิดประเทศที่มากขึ้น และสำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ควรให้ความสำคัญกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและสนับสนุนการค้ากับประเทศคู่ค้าเพื่อนบ้านให้มากขึ้นเช่นกัน