Abstract:
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษารวบรวมหลักสูตรการเรียนการสอนด้านผังเมืองในประเทศไทย และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการเรียนการสอนด้านผังเมืองในประเทศไทยร่วมกับสถานการณ์ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องในอดีต เพื่อศึกษาวิวัฒนาการการเรียนการสอนด้านผังเมือง และเพื่อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตรด้านผังเมืองในอนาคตของประเทศไทย โดยมีวิธีการวิจัย ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนด้านการผังเมืองในประเทศไทย
ผลการศึกษาจากการรวบรวมหลักสูตรการเรียนการสอนด้านผังเมืองในประเทศไทยปัจจุบันพบว่าเปิดสอนทั้งหมด 10 สถาบัน มีหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 19 หลักสูตร แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ หลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิต และหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรในช่วงแรกเป็นหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งสองหลักสูตรมีอิทธิพลต่อการก่อตั้งหลักสูตรในสถาบันอื่น ๆ ต่อมา ผลการวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนผังเมืองในอนาคต แสดงให้เห็นว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นปัจจัยระดับสากลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทั้งนี้ สามารถสรุปข้อเสนอแนะในการพัฒนาหลักสูตรด้านผังเมืองในอนาคตของประเทศไทยที่ได้จากการสัมภาษณ์ได้ว่าแนวทางการปรับตัวของหลักสูตรด้านการผังเมืองในอนาคตได้แก่ 1) การปรับการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) 2) การยึดมั่นในหลักการของการผังเมือง 3) การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญ 4) การเตรียมความพร้อมเพื่อการปรับเนื้อหาบนความไม่แน่นอน 5) การปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดวิชาชีพมากขึ้น และ 6) การสร้างเครือข่ายสู่ระดับนานาชาติ
งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทิศทางของการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ซึ่งเน้นการสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 จึงควรเพิ่มเติมทักษะทางด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรมต่างกระบวนทัศน์ ซึ่งจำเป็นสำหรับบุคลากรด้านการผังเมืองในอนาคต ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างอิสระโดยไม่จาเป็นต้องยึดโยงกับแนวทางขององค์กรวิชาชีพ จึงสามารถคาดหวังหลักสูตรที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรจะต้องสอดคล้องกับมุมมองทิศทางของวิชาชีพด้วย เนื่องจากการเรียนการสอนด้านการผังเมืองมีเนื้อหาที่ต้องสะท้อนทั้งมิติของวิชาชีพและวิชาการไปพร้อมกัน