Abstract:
ชุมชนที่เลือกมาศึกษา คือ ชุมชนริมคลองตำมะลัง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นชุมชนที่ติดกับชายแดนส่วนใต้สุดของประเทศไทยฝั่งทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกติดกับพื้นที่ทางตอนเหนือสุดของประเทศมาเลเซีย ได้แก่ ปะลิส เกดะห์ ปีนังและเปรัก นับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเรือนมลายูในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการประกอบด้วย (1) เพื่อทำความเข้าใจเรือนพื้นถิ่นมลายูในชุมชนริมคลองตำมะลัง ในเรื่องสภาพแวดล้อมและที่ตั้ง สถาปัตยกรรม และประโยชน์ใช้สอย (2) เพื่อระบุคุณค่าและความแท้ของเรือนพื้นถิ่นมลายู (3) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเรือนพื้นถิ่นมลายู เพื่อเสนอแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูเรือน วิธีวิจัยประกอบด้วย การเก็บข้อมูลภาคเอกสารเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการอ้างอิงถึงลักษณะของเรือนพื้นถิ่นมลายู และการเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยวิธีการสัมภาษณ์ สำรวจ รังวัด บันทึกภาพ งานวิจัยนี้เลือกเรือนพื้นถิ่นมลายูที่มีอายุ 100 ปี ถึงเรือนที่มีอายุ 40 ปี ที่ยังแสดงถึงอัตลักษณ์ของเรือนมาเป็นกรณีศึกษา ต่อมา ข้อมูลที่เก็บมาได้จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อจัดแบ่งประเภทของเรือน ผลสรุปที่ได้ คือ ความเข้าใจคุณค่าและการเปลี่ยนแปลงของเรือนพื้นถิ่นมลายู รวมถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของพื้นที่ชุมชนริมคลองตำมะลัง จากการประเมินคุณค่าและสัมภาษณ์ผู้อาศัยในพื้นที่ การอนุรักษ์เรือนควรคำนึงถึงการใช้วัสดุที่เหมาะสม รักษาคุณค่าของเรือน ตลอดจนปรับการใช้สอยเรือนให้รองรับการใช้งานในปัจจุบัน