Abstract:
การนำ BIM มาใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างภาคเอกชนของประเทศไทยเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายซึ่งการนำ BIM มาใช้มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในช่วงกระบวนการก่อสร้าง ช่วงพัฒนาโครงการโดยทั่วไปสามารถจำแนกออกเป็น 3 ช่วงหลักๆ ได้แก่ ช่วงออกแบบ (Design phase) ช่วงก่อสร้าง (Construction phase) และช่วงการบริหารทรัพยากรอาคาร (Facility management) ซึ่งแต่ละช่วงก็มีความต้องการในด้านข้อมูลที่แตกต่างกัน จะเห็นได้ว่าในช่วงการพัฒนาโครงการถึงแม้จะเป็นช่วงที่มีการดำเนินงานหลักแต่ช่วงของการส่งผ่านข้อมูลระหว่างช่วงออกแบบไปยังช่วงก่อสร้างยังไม่มีความชัดเจน รอยต่อตรงนี้เรียกว่าช่วง Pre-construction การทำงานในช่วงก่อนการก่อสร้างเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญเนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถควบคุมความสำเร็จของโครงการได้ งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษา สถานการณ์ รูปแบบกระบวนการ และปัจจัยการนํา BIM มาใช้งานในช่วงก่อนการก่อสร้าง
โดยงานวิจัยนี้ใช้วิธีการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในช่วงก่อนการก่อสร้างของอาคารชุดพักอาศัยภาคเอกชนของประเทศไทยและศึกษาข้อมูลมาตรฐาน คู่มือ BIM เพื่อนำมาวิเคราะห์เพื่อหาความสอดคล้อง สถานการณ์ ปัจจัย ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของการนำ BIM มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
จากผลงานวิจัยพบว่ารูปแบบการนำ BIM มาใช้ในกรณีศึกษาเป็นรูปแบบ Design-Bid-Build ซึ่งจำเป็นต้องส่งผ่านข้อมูลต่างองค์กรซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการตกหล่นของข้อมูลแต่การนำ BIM มาใช้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นระบบการทำงานที่เชื่อมข้อมูลต่างๆตลอดช่วงการทำงานของโครงการเข้าด้วยกัน ซึ่งมีข้อดีที่ช่วยส่งเสริมในเรื่อง การส่งผ่านข้อมูล การถอดปริมาณ และประมาณราคา ทำให้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อนการก่อสร้าง ส่วนในด้านปัจจัยพบว่าการนำ BIM มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดในการทำงาน ด้านปัญหาและอุปสรรคพบว่า เกิดปัญหาด้านระยะเวลาในการทำงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการก่อสร้าง และจากผลงานวิจัยมีข้อเสนอแนะคือ ควรเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะการทำงานด้วย BIM และควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ