Abstract:
การศึกษาในปัจจุบันพบปัญหาการอนุรักษ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการเก็บข้อมูล ทั้งนี้พบว่าการเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมยังขาดการประเมินและการวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านก่อนการกำหนดวิธีอนุรักษ์ ปัญหานี้อาจเกิดจากการขาดข้อมูลภาคเอกสารและการบันทึกสภาพอาคารอย่างละเอียดเพียงพอ รวมทั้งอาจจะเกิดจากขาดการนำข้อมูลด้านต่าง ๆ มาวิเคราะห์ประกอบกันเพื่อสรุปแนวทางการอนุรักษ์ จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น วิทยานิพนธ์นี้ต้องการที่จะแก้ไขและปรับปรุงกระบวนการจัดทำเอกสารในการดำเนินงานขั้นต้นของการอนุรักษ์ โดยเน้นการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมประดับกระเบื้องเคลือบ การเลือกสถาปัตยกรรมประเภทนี้มีที่มาจากการประดับด้วยงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่า อย่างไรก็ตา,กระเบื้องที่ประกอบกันขึ้นอย่างสลับซับซ้อน ห่อหุ้มทั้งพื้นผิวและโครงสร้าง ก่อให้เกิดความท้าทายในการเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้หากมีการประเมินผลจากข้อมูลเพียงด้านเดียว อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะลดคุณค่าของงานได้
วัตถุประสงค์หลักของวิทยานิพนธ์คือการสร้างชุดเครื่องมือการเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ ในเบื้องต้นผู้วิจัยจะสร้างชุดข้อมูลพื้นฐาน กำหนดวิธีการสร้างแบบสถาปัตยกรรมที่มีความถูกต้อง โดยใช้วิธีโฟโตแกรมเมตรี(Photogrammetry) เพื่อเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันของอาคารโดยละเอียด จากนั้นนําชุดการเก็บข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาทดสอบกับกรณีศึกษา พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
ผลจากการใช้เครื่องมือเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์อย่างรอบด้าน เนื่องจากช่วยให้นักอนุรักษ์เลือกวิธีการอนุรักษ์ได้อย่างเหมาะสม ชุดการเก็บข้อมูลที่นำมาใช้มีข้อดีสองประการ ดังนี้ 1) ชุดการเก็บข้อมูลช่วยให้สามารถบันทึกสภาพและประเด็นปัญหา จึงทําให้เกิดความเข้าใจงานได้อย่างลึกซึ้ง 2) ชุดการเก็บข้อมูลมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์อย่างรอบด้านช่วยให้เกิดความเข้าใจสาเหตุของการเสื่อมสภาพ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ตลอดจนชี้ให้เห็นองค์ประกอบที่มีคุณค่า โดยเฉพาะคุณค่าอันเนื่องมาจากความเป็นของแท้ ฝีมือช่าง และการใช้วัสดุดั้งเดิม ซึ่งประเด็นเหล่านี้มักถูกมองข้ามไปโดยผู้ปฏิบัติงานที่มักจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเพื่อความสวยงามและความทนทานผ่านการซ่อมแซมและการเปลี่ยนวัสดุ