Abstract:
ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ได้รับยกย่องและได้รับรางวัล 'ชุมชนซาเล้งต้นแบบดีเด่น' ในอดีตเคยเป็นชุมชนบุกรุกอยู่อาศัยใต้สะพานมาก่อน ซึ่งมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงและไม่ถูกสุขลักษณะ ปี พ.ศ.2536 คณะรัฐมนตรีมีมติแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนใต้สะพาน มีการเคหะแห่งชาติและกรุงเทพมหานครดำเนินโครงการร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาชุมชนโดยใช้แนวคิดการรื้อย้ายและพัฒนาชุมชนใหม่ (Relocation and Reconstruction) สู่พื้นที่ดิน 3 แห่ง และหนึ่งในนั้น คือ ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ การเคหะแห่งชาติได้จัดสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ชาวชุมชนสร้างบ้านด้วยตนเองบนแปลงที่ดินตามความสามารถทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน ซึ่งช่วงย้ายมาใหม่มีบ้านทั้งหมด 95 หลัง
ปัจจุบันชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ หลังจากได้รับการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในครั้งนั้นมา 22 ปีแล้ว ได้มีการพัฒนาขึ้นจนได้รับรางวัล การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยจากชุมชนใต้สะพานมาสู่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ในปัจจุบัน และปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยดีขึ้น และปัญหาสภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน งานวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลกรณีศึกษา บ้าน 24 หลัง โดยสำรวจกายภาพบ้านและสัมภาษณ์เชิงลึก โดยแบ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยจากชุมชนใต้สะพานสู่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ในปัจจุบัน เป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 จากชุมชนใต้สะพานมาสู่ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ย้ายมาใหม่ (พ.ศ.2544) และช่วงที่ 2 จากชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ย้ายมาใหม่ มาสู่ปัจจุบัน (พ.ศ.2544-2566)
ผลการศึกษาพบว่า (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัย ช่วงที่ 1 พบว่า ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงสภาพดีขึ้นมาก จากห้องใต้สะพานเป็นบ้านทั้งหลังที่มีองค์ประกอบครบถ้วน และมีความมั่นคงในการถือครองที่อยู่อาศัย และช่วงที่ 2 พบว่า ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงดีขึ้น 18 หลัง คิดเป็น 75% ของกรณีศึกษา และไม่ดีขึ้น 6 หลัง คิดเป็น 25% (2) ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัย ช่วงที่ 1 ปัจจัยสำคัญคือ การสนับสนุนภายนอก โดยพบมากสุดเรียง 3 ลำดับคือ การดำเนินโครงการของภาครัฐ เงินเชดเชยการรื้อย้าย และกระบวนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม อาทิ การร่วมจัดหาที่ดินชุมชนใหม่ กลุ่มออมทรัพย์ การร่วมออกแบบผังบ้านและชุมชน และช่วงที่ 2 ปัจจัยสำคัญคือ ปัจจัยภายในครัวเรือนด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สภาพที่อยู่อาศัยดีขึ้น โดยพบมากสุดเรียง 3 ลำดับคือ ความต้องการพื้นที่ใช้สอย สภาพแวดล้อม อาทิ แดด-ฝน ความปลอดภัย และอาชีพดีขึ้น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนดีขึ้น (3) ปัจจัยการรับรางวัลชุมชนพบว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยเพียง 1 หลัง คิดเป็น 4% ของกรณีศึกษา (4) ปัญหาสภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน แม้บ้านส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพดีขึ้นมาก แต่ยังพบปัญหาสภาพที่อยู่อาศัยมากถึง 80 รายการในกรณีศึกษาทั้งหมด เรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ ปัญหาความคงทนของโครงสร้างและวัสดุ 56% ปัญหาสุขลักษณะในที่อยู่อาศัย 16% ปัญหาสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย 18% และปัญหาพื้นที่ใช้สอย 6% ของรายการปัญหา (5) กระบวนการพัฒนาชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ช่วงที่ 1 พบว่า มีการสนับสนุนทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และกายภาพที่อยู่อาศัย และช่วงที่ 2 พบว่า มีการสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก ขาดการสนับสนุนการพัฒนากายภาพที่อยู่อาศัย ครัวเรือนจึงพัฒนากายภาพที่อยู่อาศัยด้วยตนเองตามศักยภาพและเศรษฐกิจครัวเรือน โดยบางส่วนขาดความเข้าใจมาตรฐานขั้นต่ำ มีข้อจำกัดเศรษฐกิจ สอดคล้องกับปัญหาสภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่พบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กายภาพที่อยู่อาศัยควรได้รับการเข้ามาสนับสนุนกำกับดูแลจากภาครัฐ และควรมีการพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน
จึงนำมาสู่ (1) ข้อเสนอแนะต่อชุมชน ควรมีการพัฒนาทักษะช่างของคนในชุมชนเพื่อสามารถปรับปรุงบ้านด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และควรมีการสร้างทุนทรัพย์เพื่อปรับปรุงบ้าน ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนให้ดีขึ้น (2) ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงาน (2.1) กระบวนการพัฒนาชุมชนควรบรรจุกระบวนการพัฒนากายภาพที่อยู่อาศัยร่วมด้วย โดยต้องมีการติดตามผลการพัฒนาสภาพกายภาพที่อยู่อาศัยเป็นระยะ และควรส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้มีความสม่ำเสมอ ส่งเสริมความรู้มาตรฐานขั้นต่ำและสุขลักษณะที่ดีในที่อยู่อาศัยให้กับชุมชน (2.2) การบวนการพัฒนากายภาพที่อยู่อาศัย ควรมีการส่งเสริมการปรับปรุงบ้านโดยการรวมกลุ่มตามความสัมพันธ์ของชุมชนปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนปรับปรุงบ้านและส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น โดยใช้กระบวนการทำงานร่วมกัน