Abstract:
ฌอง-ฟรองซัวส์ เลียวทารด์ เสนอประเด็นระเบียบที่เป็นธรรมเพื่อตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยเขาเห็นว่าในความแตกต่างหลากหลายนั้น ผู้คนต่างมีความเข้าใจในเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน กล่าวคือ ต่างคนต่างอยู่ในระเบียบคนละชุด ซึ่งในระเบียบแต่ละชุดมีกฎหรือเกณฑ์ของตัวเองที่กำหนดให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไป ปัญหาคือ เมื่ออยู่ในระเบียบที่ต่างกันก็จะทำให้ผู้คนมีความเห็นหรือการตัดสินต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่างกันไปด้วย ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่ไม่ลงรอย ไม่สามารถสรุปได้ ข้อสรุปที่อาจเกิดขึ้นได้ก็จะเกิดจากการที่ฝ่ายหนึ่งใช้กฎหรือเกณฑ์ของตัวเองเข้าไปตัดสินอีกฝ่ายให้เข้ามาอยู่ในระเบียบชุดเดียวกัน สิ่งนี้นำมาซึ่งระเบียบที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เลียวทารด์จึงเสนอแนวทางทำความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมไว้ 2 ประการ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง คำอธิบาย คือ ระเบียบชุดต่าง ๆ มีคำอธิบายของตัวมันเองว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างไร ความเป็นธรรมที่ถูกอธิบายในระเบียบชุดหนึ่ง ๆ ไม่สามารถเป็นความเป็นธรรมให้กับระเบียบชุดอื่นได้ และประการที่สอง การวางกรอบ คือ การวางกรอบให้ระเบียบชุดต่าง ๆ ได้อยู่โดยที่ไม่การปะทะหรือทับซ้อนกัน เพราะต้องการเพรักษาความแตกต่างหลากหลายเอาไว้ ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของระเบียบชุดเดียว และเพื่อให้ผู้คนได้อยู่ร่วมกันโดยที่ไม่มีใครสูญเสียตัวตนของตัวเองไป
วิทยานิพนธ์นี้ต้องการศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดเรื่องความยุติธรรมของฌอง-ฟรองซัวส์ เลียวทารด์ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ระเบียบที่เป็นธรรมเกิดขึ้น เพื่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมโดยยังคงไว้ซึ่งความแตกต่างหลากหลาย