Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาการสร้างลักษณะแฟนตาซีไทยและแนวคิดสำคัญที่นำเสนอผ่านลักษณะแฟนตาซีในวรรณกรรมเยาวชนชุด การิน ปริศนาคดีอาถรรพ์ ของอัยย์ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาคือ ภาคหัวใจสีดำ ซึ่งประกอบด้วยนวนิยาย 8 ตอน ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2551-2554
การศึกษาพบว่า วรรณกรรมเยาวชนชุดนี้นำความเชื่อ ตำนาน และเรื่องราวซึ่งเป็นที่รับรู้และไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยมาใช้ในการสร้างลักษณะแฟนตาซีไทยในองค์ประกอบสำคัญ 2 องค์ประกอบคือ ตัวละคร และ โครงเรื่อง ในแง่ของตัวละคร ผู้เขียนนำความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์และความเชื่อเรื่องวิญญาณมาสร้างตัวละครที่มีลักษณะแฟนตาซี 2 กลุ่ม คือตัวละครผู้วิเศษผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์และตัวละครที่เป็นวิญญาณและผี ในด้านโครงเรื่อง พบว่าเหตุการณ์การประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีเปลี่ยนชีพ พิธีเปลี่ยนกรรม พิธีผีถ้วยแก้ว ฯลฯ เป็นเหตุการณ์หลักที่ก่อให้เกิดลักษณะแฟนตาซีไทยภายในโครงเรื่องแบบ Quest Fantasy ความเชื่อทั้งของไทยและต่างชาติที่นำมาสร้างแฟนตาซีในพิธีกรรมมีทั้งสร้างตามลักษณะของความเชื่อเดิมและการปรับให้มีลักษณะร่วมสมัย
ในด้านแนวคิดที่นำเสนอผ่านลักษณะแฟนตาซีในองค์ประกอบทั้งสอง วรรณกรรมเยาวชนชุด การิน ปริศนาคดีอาถรรพ์ นำเสนอแนวคิดหลัก 2 แนวคิด แนวคิดแรก คือ แนวคิดทางพุทธศาสนา กล่าวถึงเรื่องอุปาทาน (การยึดติด) และไตรลักษณ์ ส่วนแนวคิดที่สอง คือ ปัญหาสังคม ซึ่งกล่าวถึงค่านิยมเกี่ยวกับความงาม การขาดจรรยาบรรณของสื่ออันเป็นผลจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การบริโภคเกมออนไลน์ และการประกอบอัตวินิบาตกรรมของเยาวชน แนวคิดทั้งหมดในวรรณกรรมเยาวชนชุดนี้ มีส่วนช่วยผู้อ่านเยาวชนในการจัดการกับความทุกข์ในจิตใจของตน อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจความรุนแรงของปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง ขณะเดียวกันก็นำเสนอหนทางที่จะจัดการกับปัญหานั้นด้วย