Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาบทความวิพากษ์ที่ตีพิมพ์เป็นงานเขียนหลักในหนังสือพิมพ์การเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 6 เท่าที่พบในปัจจุบัน แหล่งข้อมูลที่ใช้ศึกษามีทั้งที่เป็นเอกสารตีพิมพ์ เอกสารหายาก ไมโครฟิล์ม และไมโครแจ็กเก็ต รวม 15 ฉบับ โดยมีบทความวิพากษ์ทั้งสิ้น 1,213 เรื่อง ผลการศึกษาพบว่า บทความวิพากษ์เป็นร้อยแก้วแนวใหม่ประเภทหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพัฒนาการมาจากบทความในยุคก่อนหน้า
มีลักษณะเฉพาะทั้งด้านรูปแบบและวิธีการเขียน สามารถจัดเป็นประเภทวรรณกรรมได้
บทความวิพากษ์เกิดขึ้นท่ามกลางปัจจัยทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อให้ผู้คนมีความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกัน และต้องการพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทย โดยบทความวิพากษ์มีเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอความคิดที่มีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ราษฎร หรือประเทศชาติ จึงมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ส่วนด้านกลวิธีการนำเสนอความคิดพบว่า บทความวิพากษ์มีการเสียดสีเชิงการเมืองอย่างโดดเด่น ทั้งยังใช้การเปรียบเทียบ การสร้างความเป็นสหบทกับวรรณกรรมไทยเรื่องอื่น และการใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ กลวิธีเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้เขียนบทความใช้เพื่อวิพากษ์ ให้ข้อคิดเห็น หรือเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้สังคมรับรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไข
บทความวิพากษ์จึงเป็นวรรณกรรมประเภทใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อวัฒนธรรมวรรณศิลป์ไทย กล่าวคือ เป็นร้อยแก้ววิพากษ์ปัญหาของประเทศที่นำเสนอข้อมูลร่วมสมัย และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านในวงกว้าง จึงเป็นคุณลักษณะที่แตกต่างจากบทความที่มีมาก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ บทความวิพากษ์ยังเป็นร้อยแก้วแนวใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่บันทึกความนึกคิดของยุคสมัยผ่านวรรณศิลป์ และมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์ โดยทำให้การวิพากษ์เป็นที่ยอมรับได้ในสังคมไทย