Abstract:
การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ในประเทศไทยมีการแข่งขันทางการเมืองสูงและมีความพยายามแบ่งแยกฝ่ายทางการเมือง จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าในการหาเสียงเลือกตั้ง นักการเมืองไทยใช้อุปลักษณ์เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการต่อสู้แข่งขันทางความคิด งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามโนอุปลักษณ์ที่สะท้อนจากถ้อยคำอุปลักษณ์ที่นักการเมืองไทยใช้ในวาทกรรมการเมืองในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ตามแนวคิด
มโนอุปลักษณ์ (Conceptual Metaphor Theory) อุปลักษณ์วิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Metaphor Analysis) ฉากทัศน์อุปลักษณ์ (Metaphor Scenario) และการผสานมโนทัศน์ (Conceptual Blending Theory) งานวิจัยนี้เก็บรวบรวมข้อมูลจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ การปราศรัย การประชันวิสัยทัศน์ การให้สัมภาษณ์ และบทเพลงประจำพรรคการเมือง ที่เผยแพร่ระหว่างวันที่ 23 มกราคม - 23 มีนาคม พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำหนดให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง
ผลการศึกษาพบถ้อยคําอุปลักษณ์ทั้งหมด 1,623 ถ้อยคํา จําแนกได้เป็น 17 กลุ่มมโนอุปลักษณ์ และ 34 ฉากทัศน์อุปลักษณ์ มโนอุปลักษณ์ที่พบมากที่สุด ได้แก่ มโนอุปลักษณ์ [การเมือง คือ การเดินทาง] ผลการวิเคราะห์ อุปลักษณ์ตามแนวคิดอุปลักษณ์วิเคราะห์เชิงวิพากษ์ พบว่านักการเมืองใช้
อุปลักษณ์นำเสนอแนวความคิดที่นักการเมืองนำเสนอให้ฝ่ายตนเองมีความชอบธรรมและมีความได้เปรียบทางการเมือง จำนวน 5 แนวคิด ได้แก่ 1) นักการเมืองคือผู้นำหรือวีรบุรุษที่มีความสามารถ 2) นักการเมืองคือผู้เป็นที่พึ่ง ผู้มีเมตตา ผู้อุปถัมภ์ค้ำชู 3) นักการเมืองคือผู้มีความรู้น่าเชื่อถือ 4) นักการเมืองคือผู้แก้ไขและบริหารจัดการสังคม 5) นักการเมืองฝ่ายตนคือผู้ที่ปรารถนาดีและพร้อมจะมอบสิ่งดีให้ประชาชน แนวคิดที่ใช้ลดความชอบธรรมของนักการเมืองฝ่ายอื่น จำนวน 4 แนวคิด ได้แก่ 1) นักการเมืองฝ่ายอื่นเป็นคนขี้โกงและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง 2) นักการเมืองฝ่ายอื่นเป็นผู้ด้อยความสามารถ 3) นักการเมืองฝ่ายอื่นคือผู้สร้างความเดือดร้อนแก่ชีวิตประชาชน 4) นักการเมืองฝ่ายอื่นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการเมืองไทย จำนวน 6 แนวคิด แบ่งเป็นการใช้เพื่อสร้าง/ลดทอนความชอบธรรมระหว่างกลุ่มการเมือง จำนวน 3 แนวคิด ได้แก่ 1) การเมืองตามแนวทางประชาธิปไตยนำไปสู่ความขัดแย้ง จำเป็นต้องใช้กลไกอื่นเพื่อก้าวข้ามและนำพาประเทศให้ผ่านพ้นอุปสรรค 2) การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ 3) การเมืองแบบเก่าล้าหลัง การเมืองแบบใหม่คือความหวัง และแนวคิดที่ใช้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน จำนวน 3 แนวคิด ได้แก่ 1) ประชาชนคือผู้มีอำนาจเฉกเช่นนักการเมือง 2) การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง และ 3) ประชาชนควรเชื่อฟังนักการเมือง เพราะนักการเมืองเป็นผู้มีความชอบธรรมในการควบคุมประชาชน
ข้อสังเกตเชิงวิพากษ์ต่อการใช้อุปลักษณ์ของนักการเมืองไทยในวาทกรรมการเมืองช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 พบการใช้อุปลักษณ์ในการสร้างหรือลดความชอบธรรมต่อตัวนักการเมืองอย่างชัดเจน การสร้างความรู้สึกแง่ลบต่อแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างด้วยอุปลักษณ์ที่มีลักษณะกล่าวเกินจริง ความย้อนแย้งของการใช้อุปลักษณ์เพื่อนำเสนอแนวคิดทางการเมือง และมีความคิดเชิงครอบงำที่แฝงมากับอุปลักษณ์การเมือง ในมุมมองเชิงวิพากษ์ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอุปลักษณ์ในวาทกรรมการเมืองเป็นเครื่องมือที่นักการเมืองใช้นำเสนอว่าฝ่ายตนเองเป็น “ตัวเลือกที่เหมาะสม” และ “แนวทางที่ถูกต้อง” เพื่อโน้มน้าวใจประชาชน และนำไปสู่การได้อำนาจทางการเมือง นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์อุปลักษณ์ที่นักการเมืองใช้แสดงให้เห็นว่า ในมุมมองของนักการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองและนักการเมืองมีความชอบธรรมที่จะควบคุมและชี้นำประชาชน