Abstract:
การกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็วของจังหวัดสมุทรสาครส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะของเมืองทำให้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อปรับปรุงระบบนิเวศที่จำเป็นของเมืองและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สีเขียวในจังหวัดสมุทรสาคร และประเมินศักยภาพพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมต่อความยืดหยุ่นปรับตัวของเมืองในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การวิเคราะห์แบบหลายเกณฑ์โดยวิธีกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ความเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวและความยืดหยุ่นปรับตัวของเมือง โดยใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และการสัมภาษณ์ผู้รู้ในพื้นที่
ผลการศึกษามีดังนี้ (1) จังหวัดสมุทรสาครมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินระหว่าง ปี พ.ศ. 2543 ถึง ปี พ.ศ. 2564 เท่ากับ ร้อยละ 35.13 ของพื้นที่จังหวัด โดยพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนไปเป็นที่ดินประเภทอื่น ๆ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.20 ของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทั้งหมด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปเป็นการใช้ที่ดินประเภทพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด ร้อยละ 59.46 ของการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มลดลงและพื้นที่เมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยรูปแบบการใช้ที่ดินนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของจังหวัด (2) การประเมินศักยภาพพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมต่อความยืดหยุ่นปรับตัวของเมือง ประกอบด้วยเกณฑ์หลัก 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจ-สังคม กายภาพ ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ผลการประเมินศักยภาพของพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมต่อความยืดหยุ่นปรับตัวของเมือง พบว่า นอกเหนือจากร้อยละ 26.72 ที่เป็นพื้นที่เมืองแล้วนั้น พื้นที่ร้อยละ 73.28 ของจังหวัด คือ พื้นที่ศักยภาพ ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 5 ระดับตามศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการขยายตัวของเมือง ประกอบด้วย ศักยภาพสูงมาก (ร้อยละ 3.86) ศักยภาพสูง (ร้อยละ 61.48) ศักยภาพปานกลาง (ร้อยละ 34.13) ศักยภาพต่ำ (ร้อยละ 0.49) และศักยภาพต่ำมาก (ร้อยละ 0.05) ตามลำดับ พื้นที่ระดับศักยภาพสูงมากส่วนใหญ่เป็นการใช้ที่ดินหลากหลายประเภท ประกอบด้วย สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชสวน แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม้ผล พื้นที่นา พื้นที่ลุ่ม และ ป่าชายเลน ตามลำดับ พื้นที่เหล่านี้กระจายอยู่ในตำบลต่างๆ ใกล้พื้นที่เขตเมืองและอุตสาหกรรมของจังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต้องการพื้นที่สีเขียวรองรับการขยายตัวของเมืองเพื่อส่งเสริมให้เมืองมีความยั่งยืนและยืดหยุ่น