Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์การอธิบายเรื่องนรกและสวรรค์ และหัวข้อธรรมที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนรกและสวรรค์ ได้แก่ การเวียนว่ายตายเกิดและภพชาติ อมนุษย์ และปาฏิหาริย์ โดยเป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสารจากธรรมบรรยายและหนังสือของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ผลการศึกษาพบว่า เรื่องนรกและสวรรค์เป็นสิ่งที่ไม่อาจกล่าวถึงในแง่ของการมีหรือไม่มีโดยอ้างคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาโดยตรงได้ แต่ควรมีข้อพิจารณาและท่าทีการปฏิบัติต่อเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ท่านได้อธิบายเรื่องนรกและสวรรค์ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ กล่าวคือ ระดับที่ 1 เป็นการกล่าวถึงนรกและสวรรค์โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก ที่มีลักษณะเป็นภพภูมิที่รองรับผลของกรรมชั่วและกรรมดีหลังความตาย ระดับที่ 2 นรกและสวรรค์ซึ่งเป็นคุณภาพของจิตหรือภูมิจิตที่สืบเนื่องไปจากคุณภาพจิตในปัจจุบัน ระดับที่ 3 นรกและสวรรค์ที่เป็นการรับรู้อารมณ์ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจจากการรับอารมณ์ผ่านอายตนะทั้ง 6 ท่านพยายามเน้นการอธิบายนรกและสวรรค์ในระดับที่ 2 และ 3 โดยแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ซึ่งอาจมีสภาพจิตที่หยาบหรือประณีตสามารถที่จะเข้าถึงหรือรับรู้อารมณ์ความสุขหรือความทุกข์ของภพภูมิที่มองไม่เห็นนั้นได้ เมื่อรับรู้แล้วก็ควรตระหนักถึงบทบาทของมนุษย์เองในการเป็นผู้สร้างเหตุให้เกิดผลดีหรือชั่วนั้น ส่วนการอธิบายในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีแนวทางเดียวกัน คือการสอนจะต้องนำไปสู่ความเข้าใจหรือท่าทีที่เหมาะสม ซึ่งตอกย้ำหลักการในพระพุทธศาสนา ได้แก่ การพึ่งตนเองและความไม่ประมาทในชีวิต จนถึงการแก้ปัญหาความงมงายในสังคม ในการอธิบาย ท่านได้โยงกลับมาที่ตัวมนุษย์ซึ่งสามารถรับรู้สาระสำคัญของสิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสนั้นด้วยตนเอง เช่น ความรู้สึกทุกข์หรือสุขที่สร้างได้ด้วยตนเอง ความไม่แน่นอนของชีวิต คุณภาพที่แตกต่างกันของมนุษย์ในสังคม ความน่าอัศจรรย์ที่บุคคลสร้างขึ้น นับว่าเป็นการสื่อสารธรรมที่เหนือประสาทสัมผัสได้โดยที่ไม่กระทบความหมายดั้งเดิมของธรรมนั้น