Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามโนอุปลักษณ์เกี่ยวกับภาวะโรคระบาดใหญ่ในประเทศไทยในวาทกรรมสื่อหนังสือพิมพ์และวาทกรรมสื่อภาครัฐ และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบมโนอุปลักษณ์และหน้าที่ของมโนอุปลักษณ์เกี่ยวกับภาวะโรคระบาดใหญ่ในประเทศไทยในวาทกรรมสื่อหนังสือพิมพ์และวาทกรรมสื่อภาครัฐโดยใช้แนวคิดมโนอุปลักษณ์ตามมุมมองภาษาศาสตร์ปริชานและหน้าที่ของมโนอุปลักษณ์ตามแนววัจนปฏิบัติศาสตร์ เก็บข้อมูลจากวาทกรรมสื่อหนังสือพิมพ์และวาทกรรมสื่อภาครัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และโรคโควิด-19 รวม 803 ตัวบท ผลการศึกษาพบมโนอุปลักษณ์เกี่ยวกับภาวะโรคระบาดใหญ่ 10 มโนอุปลักษณ์ ได้แก่ [การแพร่ระบาดของโรค คือ สงคราม] [การแพร่ระบาดของโรค คือ ภัยพิบัติ] [การแพร่ระบาดของโรค คือ กีฬาชกมวย] [โรคระบาด คือ คนร้าย] [โรคระบาด คือ บุคคล] [โรคระบาด คือ สัตว์ร้าย] [โรคระบาด คือ วิญญาณร้าย] [โรคระบาด คือ พืช] [โรคระบาด คือ มะเร็ง] และ [การแพร่ระบาดของโรค คือ การเรียน] มโนอุปลักษณ์ที่พบสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับโรคระบาดได้ 6 มุมมอง ได้แก่ 1) โรคระบาดเป็นภัยคุกคาม จึงต้องควบคุมป้องกันให้สิ้นสุดลงโดยเร็ว 2) โรคระบาดไม่สามารถควบคุมให้สิ้นสุดลงโดยง่ายและสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ 3) โรคระบาดเป็นสิ่งน่ากลัว สามารถทำอันตรายแก่มนุษย์ 4) โรคระบาดเป็นการคุกคามสุขภาพที่ร้ายแรงถึงชีวิตและรักษาได้ยาก 5) โรคระบาดคือการแข่งขันกีฬา ผู้เข้าแข่งขันต้องทำคะแนนเพื่อป้องกันการถูกโจมตีตลอดเวลาและสามารถเอาชนะได้ในที่สุด และ 6) โรคระบาดเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องทำความรู้จักและปรับตัวเพื่อให้อาศัยอยู่ร่วมด้วยได้ เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบการสื่อสาร องค์ประกอบที่น่าจะมีผลต่อหน้าที่ของมโนอุปลักษณ์ ได้แก่ ฉาก ผู้ร่วมเหตุการณ์ จุดมุ่งหมาย ลำดับวัจนกรรม เครื่องมือ บรรทัดฐานการปฏิสัมพันธ์และการตีความ และประเภทของข้อความ ทำให้หน้าที่ของมโนอุปลักษณ์ที่พบมีหน้าที่ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ หน้าที่ด้านถ่ายทอดความคิด หน้าที่ด้านถ่ายทอดความคิดและบุคคลสัมพันธ์ และหน้าที่ด้านเรียบเรียงความ
เมื่อเปรียบเทียบมโนอุปลักษณ์ตามโรคพบว่าด้วยระยะเวลาการแพร่ระบาดที่ยาวนานไม่เท่ากันและความรุนแรงที่ต่างกันทำให้พบมโนอุปลักษณ์ต่างกัน มโนอุปลักษณ์ที่พบต่างกันในการแพร่ระบาดทั้งสองครั้ง ได้แก่ [การแพร่ระบาดของโรค คือ กีฬาชกมวย] และ [โรคระบาด คือ มะเร็ง] เมื่อเปรียบเทียบมโนอุปลักษณ์ตามวาทกรรมพบมโนอุปลักษณ์ในวาทกรรมสื่อหนังสือพิมพ์มากกว่าวาทกรรมสื่อภาครัฐซึ่งสัมพันธ์กับบทบาทการรายงานข่าวสาร ขณะที่มโนอุปลักษณ์ในวาทกรรมสื่อภาครัฐแม้ว่าจะพบน้อยกว่าแต่ก็มีบทบาทสำคัญในการชี้แนะให้ผู้รับสารปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติบางอย่างรวมไปถึงกำหนดบทบาทหน้าที่และควบคุมสังคมในยามวิกฤต สำหรับหน้าที่ของมโนอุปลักษณ์เมื่อพิจารณาตามประเภทวาทกรรมมีความต่างกันที่หน้าที่ถ่ายทอดความคิดและบุคคลสัมพันธ์ที่เด่นชัดกว่าในวาทกรรมสื่อภาครัฐจากบทบาทในการผลิต เผยแพร่ ผลิตซ้ำ และตอกย้ำอุดมการณ์บางอย่างเพื่อชักจูงโน้มน้าวผู้รับสาร
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นบทบาทของภาษาในการถ่ายทอดความคิดด้วยการนำสิ่งที่เป็นรูปธรรมกว่าและประสบการณ์ที่ใกล้ตัวกว่ามาเปรียบเทียบกับโรคระบาดให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นบทบาทของภาษาในภาวะวิกฤตที่นอกจากจะมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นยังมีหน้าที่กำหนดความคิดของคนในสังคมเพื่อทำให้ภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้นกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว