Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ: (1) เพื่อพัฒนารูปแบบการแสดงสื่อสาระโดยผสมผสานศาสตร์ศิลปะการละคร ศิลปะการแสดงเข้ากับศาสตร์การสอนเชิงบรรยาย และ (2) เพื่อเสริมสร้างทักษะพลังแห่งการฟื้นตัวของวัยรุ่น ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 จังหวัดราชบุรี ผู้เข้าร่วมจำนวน 46 คน ประเมินผลการเปลี่ยนแปลงทักษะพลังแห่งการฟื้นตัว ตามกระบวนการวิจัยกึ่งทดลอง แบบ Single-Group Pretest-Posttest Design ด้วยแบบประเมินความเข้มแข็งทางจิตใจในเด็ก Resilience Scale (RS - 48, 13 - 18 years)
การพัฒนารูปแบบการแสดงสื่อสาระฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ (1) วิเคราะห์บริบทของกลุ่มเป้าหมาย (2) พัฒนารูปแบบการแสดงสื่อสาระในฐานะเครื่องมือ (3) ทดสอบรูปแบบการแสดงสื่อสาระ (4) พัฒนาบทแสดงสื่อสาระฉบับสมบูรณ์ และ (5) กำหนดแผนงานและนำสู่การปฏิบัติ บทการแสดงออกแบบด้วยแนวทางบูรณาการโครงสร้างละครแบบ 3 องก์ ดำเนินเรื่องด้วยแนวคิดละครโศกนาฎกรรมร่วมกับการตั้งคำถามและสร้างบทสนทนาเพื่อการสืบค้นตามทฤษฎีพัฒนาการจิตสังคมและวิกฤตแห่งตัวตน ผนวกแนวคิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง กำหนดเป็นโปรแกรมการแสดงสื่อสาระ 4 ครั้ง (ครั้งละ 3 ชั่วโมง) รวม 12 ชั่วโมง
ผลการวิจัย พบว่า หลังโปรแกรมการแสดงเสร็จสิ้นลงทักษะพลังแห่งการฟื้นตัวของวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (คะแนนมาตรฐาน 7.73) เมื่อประเมินด้วยแบบประเมินความเข้มแข็งทางใจในเด็ก (Resilience Scale – RS-48) และเมื่อวิเคราะห์ตามองค์ประกอบ พบว่า ความสามารถทางสังคม ความสามารถในการแก้ไขปัญหา และความสามารถในการตั้งจุดมุ่งหมายในชีวิต มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น ความสามารถในการดูแลและความคุมตัวเอง ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นเพียงเล็นน้อย แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การแสดงสื่อสาระฯ สามารถลดสัดส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีทักษะแห่งการฟื้นตัวในระดับต่ำจาก ร้อยละ 13.04 เป็นร้อยละ 4.35 และลดสัดส่วนระดับปานกลางจากร้อยละ 86.96 เป็น ร้อยละ 71.74 ขณะเดียวกัน การแสดงสื่อสาระฯสามารถเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่มีทักษะแห่งการฟื้นตัวในระดับสูง จากที่ไม่ปรากฏในการประเมินก่อนแสดง เป็นร้อยละ 23.91% หลังเสร็จสิ้นการแสดง จากการถอดบทเรียน ภายใต้มุมมองบุคลากรในศูนย์ฝึกและอบรมฯ พบว่า (1) การเสริมสร้างทักษะพลังแห่งการฟื้นตัวของวัยรุ่นมีความสอดคล้องกับนโยบายของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนและมีความเป็นไปได้ในการขยายผล และ (2) การแสดงสื่อสาระสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงบางประการให้กับศูนย์ฝึกและอบรมฯ การถอดบทเรียนจากมุมมองของวัยรุ่นที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า (1) เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสาร (2) เทคนิคและวิธีการที่สร้างประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ (3) สร้างจุดคิด จุดเตือนใจในการใช้ชีวิตประจำวัน (4) คุณสมบัติส่วนตัวของผู้แสดงกับมิติของความเป็นเพื่อน (5) ข้อจำกัดของเวลาในการจัดการแสดงสื่อสาระ