Abstract:
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยระดับเสียงของวรรณยุกต์และโน้ตดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงก้องพร่าในการร้องเพลงภาษาไทยโดยใช้เทคนิคโวคอลฟราย และ 2) ศึกษาลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของเสียงก้องพร่าที่ปรากฏในการร้องเพลงภาษาไทยโดยใช้เทคนิคโวคอลฟราย เก็บข้อมูลจากผู้ร่วมวิจัยที่ประกอบอาชีพร้องเพลง ทั้งหมด 10 คน เพศชาย 5 คน เพศหญิง 5 คน อายุตั้งแต่ 20 – 30 ปี บันทึกเสียงผู้ร่วมการทดลอง จากการร้องเพลงภาษาไทยที่ผู้วิจัยแต่งขึ้นใหม่ที่มีการควบคุมวรรณยุกต์อย่างสมดุล ผู้ร่วมวิจัยได้รับอนุญาตให้ออกแบบวิธีการร้องด้วยตนเอง และให้เลือกใช้เสียงก้องพร่า (รู้จักในชื่อเทคนิคโวคอลฟราย) ได้ตามอัธยาศัย จำแนกเสียงก้องพร่าจากการฟังประกอบการพิจารณาแผนภาพคลื่นเสียงเพื่อวิเคราะห์การปรากฏในแต่ละวรรณยุกต์และโน้ตดนตรี ใช้วิธีการทางสถิติด้วย Man – Whitney U Test เพื่อยืนยันข้อแตกต่างที่พบ ศึกษาลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของเสียงก้องพร่าทั้งหมด เพื่อระบุประเภทย่อยซึ่งอ้างอิงจากการศึกษาของ Keating et al (2015) รวมถึงวัดค่าระยะเวลาเสียงก้องพร่าจากเสียงสระทั้งหมด
ผลการศึกษาปฏิสัมพันธ์ของวรรณยุกต์และโน้ตดนตรีต่อการเกิดเสียงก้องพร่าในการร้องเพลงไทย พบว่า เสียงก้องพร่านั้นสามารถปรากฏได้ในทุกช่วงระดับเสียง แต่ปรากฏในช่วงโน้ตเสียงต่ำมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และโดยภาพรวม ผู้ร่วมวิจัยเพศชายมีการเลือกใช้เสียงก้องพร่ามากกว่าในทุกช่วงระดับเสียง นอกจากนี้ ในช่วงโน้ตเสียงต่ำ เสียงก้องพร่าปรากฏมากที่สุดกับกลุ่มวรรณยุกต์ต่ำสำหรับผู้ร่วมวิจัยทั้งสองกลุ่ม แต่ในช่วงโน้ตเสียงกลาง ผู้ร่วมวิจัยเพศหญิงใช้เสียงก้องพร่าในกลุ่มวรรณยุกต์สูงมากที่สุด ผลการศึกษาลักษณะทางกลสัทศาสตร์ของเสียงก้องพร่าในการร้องเพลงไทย พบว่า โน้ตดนตรีมีอิทธิพลต่อการปรากฏของเสียงก้องพร่าในแต่ละวรณยุกต์ ส่งผลให้ประเภทย่อยของเสียงก้องพร่าค่อนข้างกระจายตัว เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับระดับเสียงที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของระดับเสียงโน้ตดนตรีและระดับเสียงของวรรณยุกต์ และถึงแม้มีการกระจายตัวค่อนข้างมาก แต่โดยภาพรวม เสียงก้องพร่าแบบโวคอลฟราย ปรากฏในสัดส่วนที่มากที่สุด ซึ่งผู้ร่วมวิจัยทุกคนใช้เสียงก้องพร่าแบบโวคอลฟรายในช่วงโน้ตเสียงต่ำ อีกทั้งโน้ตดนตรียังส่งผลให้ค่าระยะเวลาเสียงก้องพร่าแตกต่างกัน นอกจากนี้ ในช่วงโน้ตเสียงต่ำและกลาง วรรณยุกต์เอกและโท ส่งผลให้ระยะเวลาเสียงก้องพร่ามากกว่าวรรณยุกต์อื่นๆ แต่ในช่วงโน้ตเสียงสูงกลับพบว่าวรรณยุกต์ตรี ส่งผลให้ระยะเวลาของเสียงก้องพร่านั้นมากกว่าในวรรณยุกต์อื่นๆ