Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุน SET100 ที่มีความผันผวน ผนวกเข้ากับตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยใช้ข้อมูล SET100 index ในการวิเคราะห์ความผันผวนจากการลงทุนในตราสารทุน และใช้ร่วมกับตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และอัตราแลกเปลี่ยน ในการแลกเปลี่ยนของสกุลเงินบาทต่อหลายๆ สกุลเงิน นั่นคือ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน ด้วยตัวแบบ GARCH-MIDAS ผนวกกับข้อมูล SET100 index ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีลักษณะเป็นแบบรายวัน กับข้อมูลตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาคซึ่งเป็นข้อมูลที่มีลักษณะเป็นแบบรายเดือน เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยง การเปรียบเทียบตัวแบบ GARCH (1,1) และตัวแบบ GARCH-MIDAS ในโครงสร้างต่างๆ จะใช้ค่า Mean square error (MSE) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการประมาณค่าความแปรปรวมโดยตัวแบบดังกล่าว กำหนดให้องค์ประกอบของความแปรปรวนระยะสั้นมีค่าคงที่ และมีการปรับปรุงองค์ประกอบของความแปรปรวนระยะยาว ได้แก่ ตัวแบบที่ใช้ค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง ตัวแบบที่ใช้ผลกระทบจากตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และตัวแบบที่จะใช้ทั้งค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริง และผลกระทบจากตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาคร่วมกัน
ผลการดำเนินการวิจัย พบว่า ตัวแบบ GARCH-MIDAS ที่ใช้ค่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจริงเป็นฟังก์ชันการถดถอย Mixed data sampling (MIDAS) หรือตัวแบบ Realized volatility (RV) มีประสิทธิภาพในการประมาณค่าความแปรปรวนสูงกว่า ตัวแบบ GARCH (1,1) และตัวแบบ GARCH-MIDAS ในโครงสร้างอื่นๆ