Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้ประกอบด้วยวัตถุประสงค์การศึกษา 3 ส่วนคือ 1) เพื่อศึกษาแนวคิดและพัฒนาการของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 2) เพื่อศึกษาปฏิบัติการ กลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เกิดขึ้นจริงในระดับพื้นที่ และ 3) เพื่อศึกษาผลกระทบของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชุมชน ผลการศึกษาพบว่า การจัดการน้ำในยุคหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ถูกกำหนดทิศทางโดยโครงสร้างใหม่ผ่าน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โครงสร้างนี้มีเป้าประสงค์ร่วมคือการแก้ปัญหาการจัดการน้ำของไทยที่ขาดการบูรณาการ และยังมุ่งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำและระดับพื้นที่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ในเชิงเนื้อหาการจัดการน้ำที่สถาปนาขึ้นใหม่เสมือนมีความก้าวหน้าอย่างมาก ทว่ายังมีรายละเอียดหลายส่วนที่ยังคงสะท้อนว่าอำนาจการจัดการน้ำยังคงรวมศูนย์ไว้ที่รัฐ สำหรับการจัดการน้ำระดับปฏิบัติการในพื้นที่รับน้ำบางบาลนั้น ได้มีการกำหนดโครงสร้างการจัดการน้ำหลายระดับให้สอดคล้องกับโครงสร้างระดับชาติ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา และการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ไม่เพียงเท่านั้น การจัดการน้ำในพื้นที่แห่งนี้ยังอยู่ภายใต้นโยบายพื้นที่รับน้ำบางบาล ซึ่งมุ่งปกป้องพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมให้ปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกระบวนการกำหนดนโยบายนี้ดำเนินไปโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความหมาย ภายใต้โครงสร้างการจัดการน้ำที่ที่โยนภาระให้ชาวบ้านรับน้ำ ประกอบกับการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมยังไม่เกิดขึ้นจริงนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการในพื้นที่ทั้งปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ เหตุดังนี้ ชาวบ้านในพื้นที่จึงสร้างพื้นที่การต่อสู้ต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการน้ำที่เป็นอยู่ให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น 2 รูปแบบได้แก่ การต่อสู้ต่อรองในพื้นที่สื่อ และการต่อสู้ต่อรองในพรมแดนความรู้ผ่านงานวิจัยชาวบ้าน