Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา รูปแบบ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์ล้มทั้งยืน (Rug Pull) ซึ่งเป็นอาชญากรรมบนเทคโนโลยีการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมและนำไปสู่การแสวงหาแนวทางป้องกันที่เหมาะสม ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการบูรณาการการวิจัยเชิงเอกสาร การสังเกตแบบชาติพันธุ์วรรณาดิจิทัลและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญของหน่วยงานรัฐ หน่วยธุรกิจและตัวแทนนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล จำนวน 16 ราย ผลการศึกษา พบว่า ปรากฎการณ์ล้มทั้งยืน (Rug Pull) เป็นอาชญากรรมไซเบอร์ที่อาศัยความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยของ DeFi เจตนาหลอกลวงให้นักลงทุนนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาฝากในแพลตฟอร์ม จากนั้นเกิดสถานการณ์ทำให้นักลงทุนสูญเสียเงินลงทุนบางส่วน หรือทั้งหมด หรืออาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ด้วยสภาพปัญหา 4 ด้าน คือ 1) ด้านโลกาภิวัตน์ ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมโดยไม่ระบุตัวตนของคู่สัญญาด้วยความรวดเร็วผ่านระบบนิเวศ DeFi การระบุพื้นที่ หรือเขตอำนาจศาลในการลงโทษผู้กระทำผิดจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก 2) ด้านสังคมความเสี่ยง เกิดขึ้นการจากนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อน โดยมีสัญญาอัจฉริยะเป็นกลไกหลักในการควบคุมเงื่อนไขต่าง ๆ 3) ด้านกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีตัวกลางในการกำกับดูแล ทำให้ขาดการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงจากภาครัฐ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการฉ้อโกง หรือให้บริการที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง และ 4) ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งขาดกระบวนการส่งต่อ หรือรับข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบ สืบหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ล้มทั้งยืนสามารถเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบ คือ 1) การขโมยสภาพคล่อง 2) การจำกัดการซื้อขาย และ การลากและทุบ โดยมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดปรากฎการณ์ล้มทั้งยืน 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) เกิดจากผู้ที่มีความสามารถในการก่ออาชญากรรม 2) เกิดจากนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และ 3) เกิดจากขาดผู้พิทักษ์ที่มีความสามารถ ทั้งนี้ แนวทางการป้องกัน ได้แก่ การพัฒนาการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบน DeFi ที่เป็นสากลและชัดเจน การสร้างเครือข่ายเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลบน DeFi การส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องมือ หรือกลไกการป้องกันฯ ให้มีประสิทธิภาพ การออกมาตรการกำกับดูแลผู้ให้บริการตรวจสอบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract Security Audit) สำหรับแพลตฟอร์ม DeFi และการสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและผู้ให้บริการสินทรัพย์เสมือน (VASP) เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์รูปแบบใหม่ ซึ่งจะสามารถลดช่องโอกาสของการเกิดปรากฎการณ์ล้มทั้งยืน (Rug Pull) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ