Abstract:
การศึกษาวิจัยเรื่อง “ศาลเตี้ยออนไลน์ : กรณีศึกษาสถานการณ์ ปฏิสัมพันธ์ และผลกระทบที่เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงแต่ถูกสืบสวนและตัดสินในโลกออนไลน์” สามารถสรุปผลการศึกษาโดยอาศัยข้อมูลจากการวิจัยเชิงคุณภาพได้ว่า ศาลเตี้ยออนไลน์คือพื้นที่ทางอารมณ์ที่แสดงบทบาทคู่ขนานไปกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ในรูปแบบของพิธีกรรมที่ทุกคนสามารถริเริ่มและมีกลุ่มคนเข้าร่วมในภายหลัง กลายเป็นการกระทำซ้ำ ๆ ที่มีการเตรียมการ การปฏิบัติการ และการลงโทษ โดยเป็นการใช้อำนาจผ่านสื่อออนไลน์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและนำมาซึ่งความรุนแรง ประกอบด้วย 4 ตัวแสดงที่มีบทบาทแตกต่างกัน ได้แก่ 1) ผู้แสดงส่วนที่ 1 หมายถึง สื่อออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อสังคม 2) ผู้แสดงส่วนที่ 2 หมายถึง กลุ่มคนที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ 3) ใช้การมองเห็นและการรับรู้เป็นอาวุธจนเกิดการแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง และ 4) เหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยสถานการณ์ 5 รูปแบบ เรียงลำดับจากความรุนแรงน้อยไปหามาก ตั้งแต่การให้ข้อมูล การตีแผ่ การปักธง การสืบสวน และการไล่ล่า ซึ่งเป็นกระบวนการของสถานการณ์ที่ก่อรูปทรงจากพื้นที่ทางอารมณ์ จนกลายเป็นพลังงานทางอารมณ์ และแสดงออกผ่านปฏิสัมพันธ์แบบมีบทบาทแลกเปลี่ยน ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบตามมาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านผู้กระทำ ด้านเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการยุติธรรม และด้านสังคม
อย่างไรก็ดี ศาลเตี้ยออนไลน์สามารถพิจารณาได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ด้านหนึ่งอาจก่อให้เกิดความอยุติธรรม กลายเป็นกระบวนการยุติธรรมไวรัลหรือกระบวนยุติธรรมแบบปากต่อปากในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน อีกด้านหนึ่งเปรียบได้ดั่งรูปแบบคู่ขนานของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ที่ช่วยถ่วงดุลกระบวนการยุติธรรมผ่านเลนส์เทคโนโลยี จึงจำเป็นจะต้องสนับสนุนด้านบวกและควบคุมด้านลบ เพื่อนำศาลเตี้ยออนไลน์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง