Abstract:
การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชน รวมทั้งช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิสในกระบวนการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรม งานวิจัยนี้ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมและประเภทของตัวประสานที่เหมาะสมในขั้นตอนการผลิตเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง ให้เชื้อเพลิงขยะอัดแท่งมีสมบัติทางกายภาพและเคมีเหมาะสมสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในกระบวนการเผาไหม้ของโรงงานปูนซีเมนต์ โดยใช้ขยะทั่วไปส่วนที่รีไซเคิลไม่ได้เก็บรวบรวมภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนประกอบหลักของเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง สำหรับตัวประสานที่ใช้ในงานวิจัยนี้คือ โพลิไวนิลแอลกอฮอล์ ดินสอพองและใบจามจุรีที่ผ่านการหมักแล้ว และทำการทดสอบการเผาไหม้โดยใช้เตาแก๊สซิไฟเออร์แบบไหลลง จากการวิจัยพบว่าที่สัดส่วนพลาสติก กระดาษ และกากกาแฟ 5:1:3 ตามลำดับ มีค่าความร้อนสูงที่สุดคือ 32.9 เมกะจูลต่อกิโลกรัม สภาวะที่เหมาะสมในการอัดแท่งเชื้อเพลิงคือแรงดันไม่ควรต่ำกว่า 100 บาร์ อุณหภูมิควรอยู่ในช่วง 250-300 องศาเซลเซียสและเวลาจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ใช้ การใช้โพลิไวนิลแอลกอฮอล์เป็นตัวประสานที่ปริมาณ 0.2 มีสมบัติทางกายภาพและเคมีเหมาะสมที่สุดคือมีค่าความร้อน 33.3 เมกะจูลต่อกิโลกรัม ความหนาแน่น 869.5 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่ากำลังต้านทานแรงอัด 3.8 เมกะปาสคาล ก๊าซที่เกิดขึ้นมีค่าความร้อนก๊าซเฉลี่ย 3.04 เมกะจูลต่อลูกบาศก์มาตรฐาน และสมบัติทางกายภาพและเคมีผ่านเกณฑ์กำหนด ทนต่อการเผาไหม้ ให้อุณหภูมิในระหว่างการเผาไหม้สูง ติดไฟได้ง่าย เหมาะสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในกระบวนการเผาไหม้ของโรงงานปูนซีเมนต์