Abstract:
เนื่องมาจากการก่อสร้างที่พักอาศัยที่มีอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นต้นเหตุของมลพิษทางอากาศและเสียง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แรงงานก่อสร้าง งานวิจัยนี้จึงต้องการวิเคราะห์มลพิษทางอากาศและเสียง (PM 2.5, PM 10, NO2, CO, dB(A)) ที่เกิดจากกิจกรรมย่อยของการก่อสร้างที่พักอาศัยโดยเครื่องมือวัดส่วนบุคคลร่วมกับบันทึกวีดีโอ ซึ่งนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เซนเซอร์ตรวจวัดมลพิษทางอากาศและเสียง และกล้องบันทึกวีดีโอมาประยุกต์ใช้ ทำให้ทราบค่าความเข้มข้นของมลพิษที่แรงงานได้รับจากกิจกรรมย่อยของงานก่อสร้าง การตรวจวัดมลพิษทางอากาศและเสียงโดยทั่วไปวัดจากค่าเฉลี่ยของปริมาณมลพิษที่แรงงานได้รับตลอดช่วงเวลาทำงาน อีกทั้งเครื่องมือวัดมีขนาดใหญ่ มีราคาสูง และไม่สามารถทราบถึงกิจกรรมย่อยที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อแรงงาน ดังนั้นงานวิจัยนี้ได้ติดเครื่องมือวัดและกล้องบันทึกวีดีโอกับแรงงาน เพื่อให้ทราบถึงปริมาณมลพิษที่แรงงานได้รับจากกิจกรรมย่อยของการก่อสร้าง โดยเมื่อมีปริมาณมลพิษเกินค่ามาตรฐานจะมีการแจ้งเตือนไปยัง Line Notify เพื่อให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยโครงการได้ทราบถึงปริมาณมลพิษที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หลังจากนั้นประยุกต์ใช้เครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางอากาศและเสียงกับโครงการก่อสร้างกรณีศึกษา 4 โครงการ ผลการทดสอบพบว่า กิจกรรมย่อยที่เกิดมลพิษมากที่สุด คือ เชื่อมโลหะโดยใช้ลวดเชื่อม มีปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามเครื่องมือยังมีข้อจำกัดในเรื่องขีดจำกัดต่ำสุดและสูงสุดของเซนเซอร์ที่สามารถตรวจวัดมลพิษได้