Abstract:
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาปัญหาโรคระบาดที่ติดต่อทางสารคัดหลั่งส่งผลให้เกิดขยะติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งจะต้องถูกจัดการอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบทางลบทั้งในด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณการปริมาณขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งที่เกิดขึ้นของกรุงเทพมหานคร และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งในรูปแบบต่าง ๆ โดยกลุ่มตัวอย่างระบุเป็นบุคคลทั่วไป ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงที่สุดในประเทศไทย ทำการเก็บข้อมูลแบบสอบถามจำนวน 3 รอบ จำนวน 413 คน (ปี 2564) 238 คน (ปี 2565) และ 112 คน (ปี 2566) ตามลำดับ โดยกำหนดการเก็บข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลทางออนไลน์โดยใช้ Google Forms และวิเคราะห์ผลทางสถิติ จากผลการศึกษาพบว่า ในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 มีปริมาณการใช้งานหน้ากากอนามัยเฉลี่ย 5,795,752 - 7,389,590 ชิ้นต่อวัน ซึ่งจำนวนการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่เพิ่มสูงขึ้น และมีหน้ากากอนามัยมากกว่าร้อยละ 75.6-78.6 ที่ถูกทิ้งปนไปกับขยะทั่วไป ส่งผลให้ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี อีกทั้งยังพบว่าส่วนใหญ่ประชาชนมีความรู้ในการจัดการที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อย และมีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาเป็นต้นไป จึงควรมีการมุ่งเน้นให้ความรู้เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการจัดการหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการประเมินผลกระทบทาสิ่งแวดล้อม จะใช้การวิเคราะห์การไหลของวัสดุ (MFA) ร่วมกับการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) พบว่าในสถานการณ์ที่มีสัดส่วนการฝังกลบของหน้ากากอนามัยมากที่สุด จะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และในสถานการณ์ที่มีการเผาด้วยเตาเผาทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่ในระยะสั้นยังจำเป็นต้องใช้การกำจัดด้วยวิธีการเผา เนื่องจากจะต้องควบคุมเชื้อโรค และการเผายังง่ายต่อการปฏิบัติ อีกทั้งการฝังกลบยังมีการการปลดปล่อยไมโครพลาสติกที่เป็นประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบัน