Abstract:
มะแขว่น (Zanthoxylum limonella Alston) เป็นพืชพื้นเมืองที่พบในแถบภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย นิยมใช้เป็นเครื่องเทศชูกลิ่นรสในอาหาร ช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน สารระเหยหลักที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากมะแขว่นประกอบด้วย D-limonene, alpha-phellandrene และ alpha-pinene ซึ่งทำให้มีกลิ่นคล้ายส้ม และมีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชันสูง อย่างไรก็ตามสารออกฤทธิ์ในน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ถูกทำลายได้โดย ความร้อน ความชื้น แสง และออกซิเจน ดังนั้นจึงควรปกป้องสารระเหยด้วยวิธีเอ็นแคปซูเลชัน ซึ่งคอมเพล็กซ์โคแอเซอร์เวชัน เป็นหนึ่งในวิธีการกักเก็บสารที่นิยมใช้ โดยเกิดขึ้นจากอันตรกิริยาระหว่างประจุที่แตกต่างกันของสารละลายพอลิเมอร์ โดยนิยมใช้โปรตีนเป็นสารให้ประจุบวก (polycation) และพอลิแซ็กคาไรด์เป็นสารให้ประจุลบ (polyanion) งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะที่เหมาะสมในการกักเก็บน้ำมันหอมระเหยจากมะแขว่นในไมโครแคปซูล และวิเคราะห์สมบัติทางเคมี และกายภาพของไมโครแคปซูลที่ได้ โดยสารเคลือบที่ใช้ศึกษาเป็นพอลิแซ็กคาไรด์ 3 ชนิด ได้แก่ แอลจิเนต (ALG) กัมอะราบิก (GAB) และแซนแทนกัม (XTG) ร่วมกับโปรตีนเจลาติน (GEL) วิเคราะห์ร้อยละการผลิต (EY) ประสิทธิภาพในการกักเก็บ (EE) สมบัติการต้านออกซิเดชัน หมู่ฟังก์ชัน (ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานสฟอร์มอินฟราเรดสเปกโตรสโกปี, FTIR) และโครงสร้างจุลภาค (ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด, SEM) ของไมโครแคปซูล พบว่าไมโครแคปซูลที่เตรียมโดยใช้สารเคลือบ GEL ร่วมกับ GAB ให้ผลที่ดีที่สุด นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ FTIR ยืนยันว่าเกิดอันตรกิริยาระหว่างพอลิแซ็กคาไรด์ทั้ง 3 ชนิดกับ GEL และสารเคลือบทั้งหมดไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำมันหอมระเหยที่กักเก็บภายใน จากนั้นศึกษาปัจจัยของ pH (3.20-4.20) อัตราส่วนของโปรตีนต่อพอลิแซ็กคาไรด์ (GEL:GAB; 1.00-2.00) และอัตราส่วนระหว่างสารเคลือบต่อน้ำมันหอมระเหย (wall:core; 1.00-5.00) ที่ส่งผลต่อค่า EY และ EE ด้วยวิธีพื้นผิวตอบสนอง (RSM) พบว่าภาวะที่เหมาะสมในการกักเก็บน้ำมันหอมระเหยจากมะแขว่นมีดังนี้ pH เท่ากับ 4.00 GEL:GAB เท่ากับ 1.55 และ wall:core เท่ากับ 2.50 อีกทั้งไมโครแคปซูลที่เตรียมขึ้นโดยใช้ภาวะดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการเก็บรักษาสารระเหยดีมาก