Abstract:
วัณโรค เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนหรือจากคนสู่สัตว์ที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก รวมถึงในประเทศไทย เนื่องจากเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (M. tb) complex (MTBC) ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุของวัณโรค สามารถพบการติดเชื้อได้ในสัตว์หลายกลุ่ม ทั้งสัตว์เท้ากีบ สัตว์ตระกูลลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมถึงช้าง การวินิจฉัยวัณโรคในช้างทำได้ยาก เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยวิธีเดียวกับมนุษย์ เช่น การเอกซเรย์ปอด และการทดสอบทางผิวหนัง นอกจากนี้ วิธีมาตรฐานโดยการเพาะเลี้ยงเชื้อจากน้ำล้างงวงช้างมีความไวต่ำ ใช้เวลานาน และตรวจได้เฉพาะระยะที่แสดงอาการเท่านั้น ดังนั้น การตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ ครอบคลุมทุกระยะการติดเชื้อ M. tb จึงเป็นสิ่งจำเป็น นำมาสู่การประยุกต์ใช้เทคนิค Interferon gamma release assay (IGRA) สำหรับเป็นวิธีทางเลือกในการวินิจฉัยวัณโรค ซึ่งเป็นวิธีตรวจหาอินเตอร์เฟียรอนแกมมา (IFN) ที่มีการหลั่งออกมาจากทีลิมโฟไซต์ชนิด memory หลังถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจนจำเพาะของ M.tb งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาวิธี IGRA ให้ใช้งานได้ง่ายกว่าที่มีอยู่เดิม โดยการคัดกรองเพปไทด์สังเคราะห์ของโปรตีน early secreted antigenic target 6 kDa (ESAT6) และ culture filtrate protein 10 kDa (CFP10) ที่สามารถกระตุ้นการหลั่ง eIFN ของเซลล์เม็ดเลือดขาวของช้าง และพัฒนาวิธีการตรวจโดยการกระตุ้นแบบ whole blood culture โดยเริ่มทำการตรวจการติดเชื้อของช้างด้วยวิธี IGRA เดิม (IGRA โดยใช้เซลล์เม็ดเลือดขาว PBMCs) ในตัวอย่างเลือดจากช้าง 20 เชือก โดยมีโปรตีนทั้งสายเป็นแอนติเจน พบว่าช้างมีการติดเชื้อ MTBC 50% ของตัวอย่างทั้งหมด ไม่ติดเชื้อ 30% และ 20% มีการติดเชื้อกลุ่ม Non tuberculous mycobacterium (NTM) จากนั้นทำการคัดกรองเพปไทด์สังเคราะห์ของโปรตีน ESAT6 และ CFP10 ในช้างทั้ง 20 เชือก พบว่าเพปไทด์สังเคราะห์ของโปรตีน ESAT6 และ CFP10 ที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวของช้างที่คาดว่าติดเชื้อ MTBC ให้หลั่ง eIFN ได้ มีจำนวน 13 สาย และ 14 สาย ตามลำดับ สำหรับการพัฒนา IGRA ด้วยการกระตุ้นแบบ whole blood culture พบว่าสามารถใช้ Pokeweed (PWM) (10 ไมโครกรัมต่อมิลลิตร) เป็นสารกระตุ้นในกลุ่มควบคุมบวก และพบว่ารีคอมบิแนนท์โปรตีนของ ESAT6 และ CFP10 (20 ไมโครกรัมต่อมิลลิตร) สามารถกระตุ้นการหลั่ง IFN ได้ แต่กลุ่มของเพปไทด์ที่คัดกรองได้จากการกระตุ้นแบบ PBMC culture นั้น ไม่สามารถกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวได้ด้วยการกระตุ้นแบบ whole blood culture ผลการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นแบบ whole blood culture โดยใช้แอนติเจนทั้งสายของโปรตีน ESAT6 และ CFP10 สามารถใช้เป็นวิธีทางเลือกสำหรับการวินิจฉัยวัณโรคในช้าง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายต่อผู้ใช้งาน และรวดเร็วกว่าการวินิจฉัยด้วย PBMCs IGRA