Abstract:
จากกระแสความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพและคำนึงสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลให้แนวโน้มการตลาดของผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารอินทรีย์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง น้ำนมที่ได้จากฟาร์มโคนมอินทรีย์ซึ่งเน้นรูปแบบการเลี้ยงที่เป็นธรรมชาติ ปลอดจากการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ จัดเป็นหนึ่งกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง ส่งผลให้มีความต้องการพัฒนาวิธีการตรวจสอบคุณภาพ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำนมที่เป็นผลมาจากกระบวนการจัดการฟาร์มแบบอินทรีย์ เพื่อใช้ระบุอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าว เมตาโบโลมิกส์ (metabolomics) นับเป็นเทคนิคทางเคมีวิเคราะห์สมัยใหม่ที่สามารถนำมาใช้เพื่อตรวจสอบอัตลักษณ์ทางชีวโมเลกุลของผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาข้อมูลแบบแผนทางชีวโมเลกุลของน้ำนมและผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลสารเมตาบอไลต์ชนิดระเหยยากและข้อมูลกรดไขมันของน้ำนมดิบที่ได้จากฟาร์มโคนมอินทรีย์และฟาร์มโคนมทั่วไปโดยใช้เทคนิค 1H-NMR และ GC-MS ร่วมกับการวิเคราะห์ทางสถิติพหุตัวแปร พร้อมทั้งติดตามอิทธิพลของฤดูกาลต่อการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวในน้ำนมดิบ ผลการวิจัยพบว่าสามารถระบุชนิดของสารเมตาบอไลต์ชนิดระเหยยากและกรดไขมันในน้ำนมดิบได้ทั้งหมด 35 และ 32 ชนิดตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพหุตัวแปรแสดงให้เห็นว่า สามารถแยกความแตกต่างของข้อมูลสารเมตาบอไลต์ชนิดระเหยยากและข้อมูลกรดไขมันของกลุ่มตัวอย่างน้ำนมดิบที่ได้จากฟาร์มโคนมอินทรีย์ออกจากฟาร์มโคนมทั่วไปได้ โดยสามารถใช้ปริมาณสัมพัทธ์ของสารเมตาบอไลต์ carnitine, N-acetylglucosamine, lactate, glycerophosphocholine, 1,3 dihydroxyacetone,1,6-anhydro-β-D-glucose และกรดไขมันชนิด stearic acid และ linolenic acid เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อระบุอัตลักษณ์ทางชีวโมเลกุลของน้ำนมโคอินทรีย์ได้ นอกจากนี้อิทธิพลของความแตกต่างระหว่างฤดูแล้งและฤดูฝนยังส่งผลต่อความผันแปรของปริมาณสารเมตาบอไลต์ acetoacetate, glucose, histidine, choline และกรดไขมันชนิด lauric acid, myristic acid, palmitic acid, margaric acid, saturated fatty acid (SFA), monounsaturated fatty acid (MUFA), polyunsaturated fatty acid (PUFA), elaidic acid, linolelaidic acid, conjugated linoleic acid (CLA) และ behenic acid ผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเมตาโบโลมิกส์ในการวิเคราะห์อัตลักษณ์ทางชีวโมเลกุลของน้ำนมโคอินทรีย์ รวมทั้งอิทธิพลของฤดูกาลต่อความผันแปรของข้อมูลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ