Abstract:
ปัญหาน้ำท่วมขังหลังจากที่เกิดฝนตกหนัก มักเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพื้นที่ในเขตเมืองหลวง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้คนที่สัญจรบนท้องถนน การนำบล็อกพรุนที่มีความสามารถในการระบายน้ำได้มาใช้ทำเป็นพื้นสำหรับทางเดินสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยทั่วไปแล้วบล็อกพรุนที่มีความสามารถในการระบายน้ำที่สูงมักจะทำให้ค่าความแข็งแรงต่ำ เนื่องจากมีรูพรุนอยู่ในโครงสร้างของชิ้นงานมาก ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงสนใจนำเศษเซรามิกเนื้อสโตนแวร์ ที่แตกหักเสียหายจากอุตสาหกรรมเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ผ่านการบดและคัดขนาด 2 - 5 มิลลิเมตร มาใช้เป็นมวลรวมหยาบสำหรับการทำบล็อกพรุนและเลือกใช้เคลือบเซรามิกขาวทึบมาเป็นวัสดุเชื่อมประสาน โดยใช้กระบวนการขึ้นรูปด้วยมือในแม่พิมพ์ และได้ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อสมบัติทางกายภาพของบล็อกพรุน พบว่ามีปัจจัยหลัก 4 ที่ส่งผลต่อสมบัติทางกายภาพของบล็อกพรุน ได้แก่ อุณหภูมิที่ใช้ในการเผาบล็อกพรุน อัตราส่วนระหว่างมวลรวมและวัสดุเชื่อมประสาน ขนาดของเศษเซรามิกที่ใช้เป็นมวลรวม และความเข้มข้นของเคลือบที่ใช้เป็นวัสดุเชื่อมประสาน นอกจากนี้ยังได้หาเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการขึ้นรูปบล็อกพรุนที่ให้อัตราการไหลซึมผ่านของน้ำและค่าความแข็งแรงที่เหมาะสม ซึ่งพบว่าบล็อกพรุนปูทางเท้าที่ประกอบด้วยเศษเซรามิกขนาด 2 – 5 มิลลิเมตร ปริมาณร้อยละ 80 โดยน้ำหนัก วัสดุเชื่อมประสานปริมาณร้อยละ 20 โดยในวัสดุเชื่อมประสานประกอบด้วยสัดส่วนผงเคลือบแห้งต่อน้ำ ร้อยละ 71.43 : 28.57 โดยน้ำหนัก และเผาที่อุณหภูมิ 1200 °C ซึ่งให้ค่าความแข็งแรงต่อแรงอัดที่ 24.57 MPa ความหนาแน่น 1.64 g/cm3 ค่าความพรุนตัว 30.43% และอัตราการไหลซึมผ่านของน้ำ 897.74 L/m2·min