Abstract:
ความเป็นมา กรดไขมันโอเมก้า 3 (n-3 PUFA) ช่วยลดอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการเข้าไปแทนที่กรดไขมันโอเมก้า 6 (n-6 PUFA) บนฟอสโฟลิปิด (PL) ของเมมเบรนเกล็ดเลือด ทำให้สัดส่วน n-3/n-6 PUFA บนเมมเบรนเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อการสร้างพรอสตาแกลนดิน วัตถุประสงค์ เพื่อหาวิธีการเพิ่มสัดส่วน n-3/n-6 PUFA บนเมมเบรนของเกล็ดเลือดโดยแช่เกล็ดเลือดของคนปกติในอิมัลชันไขมันเตรียมจากปลาป่นซึ่งเป็นชนิดที่มี n-3 PUFA สูงใน PL วิธีการ นำปลาป่นชนิดต่างๆ มาศึกษาปริมาณ n-3 PUFA ใน PL จากนั้นนำ PL เตรียมเป็นอิมัลชันไขมัน (FM-LRFE) นำเกล็ดเลือดเข้มข้นที่มีจำนวนเซลล์ 1.86 x 10[superscript 9] เซลล์ต่อมิลลิลิตรแช่กับ FM-LRFE ที่ความเข้มข้นของ PL 0, 100, 300 และ 600 mg/dl เป็นเวลา 1 ชั่วโมงที่ 22 องศาเซลเซียส ทำการศึกษาภาวะที่เหมาะสมของการแช่และตรวจสอบกรดไขมันที่เปลี่ยนแปลงบนเมมเบรนของเกล็ดเลือด ผลการทดลอง การแช่เกล็ดเลือดกับ FM-LRFE ที่ระดับ 600 mg PL/dl ในภาวะไม่มีพลาสม่าสัดส่วนของ n-3/n-6 PUFA ของเกล็ดเลือดมีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าภาวะที่มีพลาสมา 1.8 เท่า กรดไขมันที่เปลี่ยนแปลงคงสภาพอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง การแช่กับ FM-LRFE ความเข้มข้นต่างๆ สัดส่วนของ n-3/n-6 PUFA เพิ่มขึ้นตามสมการ Y = 0.16 + 3E-04X, p<0.001 เมื่อ X เป็นค่าความเข้มข้นของ PL ใน FM-LRFE และ Y คือสัดส่วนของ n-3/n-6 PUFA ที่ความเข้มข้น FM-LRFE 600 mg PL/dl สัดส่วน n-3/n-6 PUFA สูงขึ้น 2.43 เท่า n-3 PUFA สูงขึ้น 2.15 เท่าขณะที่ n-6 PUFA ลดลง 0.89 เท่า สรุปผลการทดลอง องค์ประกอบของ PUFA บนเมมเบรนของเกล็ดเลือดหรือ n-3/n-6 PUFA สามารถปรับเปลี่ยนได้ FM-LRFE ทำหน้าที่เป็นตัวจ่าย n-3 PUFA ให้กับ PL ของเกล็ดเลือด สัดส่วนของ n-3/n-6 PUFA ที่เพิ่มขึ้นบนเมมเบรนของเกล็ดเลือดคาดว่าจะมีประโยชน์ต่อการสร้างสารพรอสตาแกลนดินชนิดต่างๆ ส่งผลยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดอันเป็นผลดีต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด