Abstract:
การศึกษาการย่อยสลายของรากสำคัญต่อการประมาณปริมาณคาร์บอนที่ส่งต่อและกักเก็บในระบบนิเวศป่าชายเลน ในขณะที่กระบวนการย่อยสลายในป่าชายเลนภายใต้สภาพภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนได้รับผลกระทบจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ผันแปรตามฤดูกาล การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการย่อยสลายรากฝอย (เส้นผ่านศูนย์กลาง < 2 มม.) ของแสมขาว (Avicennia alba Blume) ด้วยวิธีถุงย่อยสลาย ในฤดูแล้งและฤดูฝน (12 สัปดาห์) และเปรียบเทียบกับอัตราการย่อยสลายในรอบปี (52 สัปดาห์) รวมถึงศึกษาอิทธิพลของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายของรากฝอยที่ผันแปรตามฤดูกาล ในเขตพันธุ์ไม้แสม บริเวณป่าชายเลนปากแม่น้ำตราด จังหวัดตราด ผลการศึกษาพบว่า อัตราการย่อยสลายของรากฝอยของแสมขาวในฤดูแล้งมีค่าน้อยกว่าฤดูฝน (0.003 และ 0.005 ต่อวัน ตามลำดับ) เป็นผลจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ผันแปรตามฤดูกาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยปริมาณน้ำฝนที่ต่ำในฤดูแล้งส่งผลให้ความเค็มในดินสูง รวมถึงในฤดูแล้งพื้นที่ศึกษาถูกน้ำท่วมเป็นระยะเวลานานกว่าฤดูฝน ที่อาจไปยับยั้งกิจกรรมของจุลชีพในดินที่มีบทบาทในการย่อยสลาย นอกจากนี้ปัจจัยทางชีวภาพเกี่ยวกับลักษณะของรากฝอยทั้งองค์ประกอบทางเคมีตั้งต้น (ไนโตรเจน) และลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ที่แตกต่างกันในฤดูแล้งและฤดูฝน ล้วนส่งผลต่อการย่อยสลายของรากฝอยของแสมขาวด้วย ส่วนอัตราการย่อยสลายของรากฝอยของแสมขาวในรอบปีมีค่าเท่ากับ 0.001 ต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าอัตราการย่อยสลายในฤดูแล้งและฤดูฝน เนื่องจากมีรากใหม่เจริญเข้าไปในถุงย่อยสลายหลังจากเวลาผ่านไป 12 สัปดาห์และไม่สามารถแยกจากซากรากตั้งต้นได้ การคำนวณอัตราการย่อยสลายของรากฝอยจากการทดลองที่ใช้ระยะเวลานานจึงมีค่าต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นจึงเสนอว่าการศึกษาการย่อยสลายของรากฝอยในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม (12 สัปดาห์) แยกตามฤดูกาล จะสะท้อนอัตราการย่อยสลายที่เกิดขึ้นจริงและสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายของรากที่ผันแปรตามฤดูกาลกับการย่อยสลายของรากฝอยที่เกิดขึ้นในป่าชายเลนได้ ซึ่งจะนำไปสู่การประมาณอัตราการย่อยสลายของรากฝอยที่แม่นยำเพื่อการประมาณปริมาณคาร์บอนที่ส่งต่อและกักเก็บในองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบนิเวศป่าชายเลนต่อไป