Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการใช้ประโยชน์เถ้าลอย และทรายของเสีย (ขนาดละเอียดและหยาบ) จากกระบวนการเผาไหม้แบบฟลูอิไดซ์เบดเพื่อนำความร้อนมาใช้ในการอบแห้งในกระบวนการผลิตกระดาษ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการเตรียมบล็อกคอนกรีต 2 ประเภทวัสดุ คือ คอนกรีตฐานปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และคอนกรีตฐานจีโอพอลิเมอร์ สำหรับการเตรียมคอนกรีตฐานปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ได้ศึกษาผลของการใช้เถ้าลอยทดแทนส่วนของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (วัสดุประสาน) และศึกษาอัตราส่วนของทรายของเสีย (มวลรวม) ต่อวัสดุประสาน ที่มีต่อสมบัติของคอนกรีต ขึ้นรูปด้วยวิธีการอัด บ่มชิ้นงานเป็นเวลา 1 7 และ 28 วัน พบว่าตัวอย่างที่มีเถ้าลอยทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ร้อยละ 15 โดยน้ำหนักของวัสดุประสาน และมีอัตราส่วนของ มวลรวมต่อวัสดุประสาน เท่ากับ 1:1 โดยน้ำหนัก ที่อายุ 7 วัน มีค่ากำลังอัด 45 MPa เป็นไปตามมาตรฐาน มอก.827-2531 นอกจากนั้นยังได้นำส่วนผสมดังกล่าวมาเตรียมบล็อกประสานปูพื้นฐานปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่มีขนาดและรูปทรงตามมาตรฐานดังกล่าวด้วยเครื่องผลิตบล็อกคอนกรีต พบว่าสามารถเตรียมบล็อกประสานปูพื้นฐานปูนซีเมนต์ปอรต์แลนด์ที่มีเถ้าลอยทดแทนส่วนของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ได้ ในส่วนของการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตบล็อกฐานจีโอพอลิเมอร์เป็นการทดลองเตรียมจีโอพอลิเมอร์แบบส่วนเดียว โดยใช้เถ้าลอยร่วมกับสารแอลคาไลซึ่งประกอบด้วย
โซเดียมซิลิเกตและโซเดียมไฮดรอกไซด์ (วัสดุประสาน) และผสมกับมวลรวมในสัดส่วนของวัสดุประสานต่อมวลรวมเท่ากับ 1:1 เช่นเดียวกับการเตรียมบล็อกคอนกรีตฐานซีเมนต์ ใช้อัตราส่วนผสมน้ำต่อวัสดุประสานเท่ากับ 0.31 ขึ้นรูปด้วยวิธีการอัด โดยศึกษาผลของสัดส่วนของเถ้าลอยต่อสารอัลคาไล และสัดส่วนของโซเดียมซิลิเกตต่อโซเดียมไฮดรอกไซด์ ที่มีต่อสมบัติของคอนกรีต พบว่าชิ้นงานที่ใช้เถ้าลอยร้อยละ 80 โดยน้ำหนักของวัสดุประสาน และใช้สารอัลคาไล (โซเดียมซิลิเกตต่อโซเดียมไฮดรอกไซด์เท่ากับ 60:40 โดยน้ำหนัก) ร้อยละ 20 โดยน้ำหนักของวัสดุประสาน ที่อายุ 28 วัน มีกำลังอัด 5.45 MPa ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าค่าตามมาตรฐาน มอก.827-2531 จึงไม่สามารถใช้ทำบล็อกประสานปูพื้นได้ แต่ค่ากำลังอัดของบล็อกฐานจีโอพอลิเมอร์ก็สูงมากพอสำหรับผลิตบล็อกกลวงไม่รับน้ำหนักตาม มอก.58-2560