Abstract:
อุตสาหกรรมการก่อสร้างสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และยังมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความต้องการวัสดุ แรงงาน และมลพิษที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดปัญหาด้านแรงงาน เจ้าของโครงการได้หันมาใช้วิธีการก่อสร้างใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น ระบบหล่อสำเร็จ เป็นต้น โดยมีการประเมินว่าระบบหล่อสำเร็จช่วยลดการใช้แรงงานได้ถึง 50% และลดเวลาก่อสร้างได้ 30% อย่างไรก็ตาม ต้นทุนก่อสร้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน ทำให้ผลการประเมินต้นทุนรวมในช่วงก่อสร้างและใช้งานอาจแตกต่างจากที่ได้ประเมินในช่วงก่อนการก่อสร้าง ดังนั้นการประเมินต้นทุนค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการควรนำปัจจัยเสี่ยงมารวมในการวิเคราะห์ด้วย งานวิจัยนี้ศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนรวมตลอดอายุของระบบคอนกรีตหล่อในที่และระบบหล่อสำเร็จ โดยประเมินต้นทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการทำงาน พร้อมทั้งวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงด้วยวิธีการวิเคราะห์ความอ่อนไหวรวมไปถึงการใช้แบบจำลองมอนติคาร์โลเพื่อจำลองหาช่วงค่าที่เป็นไปได้ของต้นทุนตลอดอายุการงานในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ นอกจากนี้ยังศึกษาถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นในกิจกรรมผลิตวัสดุก่อสร้างและการขนส่งเพื่อนำไปใช้เป็นค่าพารามิเตอร์ในการประเมินการปล่อยสารคาร์บอนโดยวิธี Coefficient method ในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ โดยผลลัพธ์ของการศึกษาคือ สัดส่วนของต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน ที่ประกอบไปด้วย (1) ต้นทุนในช่วงเตรียมการและช่วงก่อสร้าง และ (2) ต้นทุนรวมในช่วงการใช้งานทั้งในมุมมองของระบบหล่อในที่และระบบหล่อสำเร็จในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ ซึ่งพบว่าทุกโครงการตัวอย่างของต้นทุนตลอดอายุการใช้งานทั้งระบบหล่อในที่และหล่อสำเร็จนั้น มีต้นทุนรวมใน 2 ช่วงแรกมีค่ามากกว่าต้นทุนรวมในช่วงการใช้งาน (O&M phase) และยังพบว่าอัตราส่วนของต้นทุนรวมตลอดอายุการใช้งานของระบบหล่อในที่ต่อต้นทุนตลอดอายุการใช้งานของระบบหล่อสำเร็จนั้นนในแต่ละโครงการตัวอย่าง อยู่ที่ 0.60 – 0.73 (โดยไม่คำนึงถึงมิติด้านเวลาที่แตกต่างกันในช่วงการก่อสร้าง) ในส่วนของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการขนส่งในโครงการก่อสร้างตัวอย่างทั้ง 6 โครงการ ที่พบว่า ระบบหล่อในที่นั้นมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการขนส่งน้อยกว่าระบบหล่อสำเร็จ ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษานี้จะช่วยประกอบการตัดสินใจของเจ้าของโครงการในการเลือกวิธีการก่อสร้างที่เหมาะสมในบริบทของต้นทุนรวมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม