Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการวางแผนและจัดตารางการทำงานสำหรับการทดสอบความคงตัวของยา โดยมีแนวคิดในการแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 การหารูปแบบมอบหมายงานให้กับพนักงานและเครื่องทดสอบ ในการแก้ปัญหาดังกล่าวแบบจำลองกำหนดการเชิงเส้นจำนวนเต็มแบบผสมได้ถูกนำมาใช้ในการหาคำตอบของปัญหา แต่เนื่องจากมีหลายวัตถุประสงค์ที่ใช้ในการตัดสินใจ อีกทั้งแต่ละวัตถุประสงค์มีหน่วยที่ต่างกัน ทำให้แก้ปัญหาด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์เดียวทำได้ยาก จึงได้มีการพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์จำนวน 2 โมเดลเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว โมเดลที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความแตกต่างของภาระงานสูงสุด และต่ำที่สุด และการทำงานล่วงเวลาของพนักงานให้น้อยที่สุด ในขณะที่โมเดลที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาลำดับความสำคัญของการทดสอบยา ส่วนที่ 2 เป็นการจัดตารางการทำงานของพนักงานและเครื่องทดสอบด้วยวิธีการฮิวริสติก โดยมีข้อมูลนำเข้าจากผลคำตอบที่ได้รับในงานส่วนที่ 1 และได้นำกฎการจัดลำดับความสำคัญ จำนวน 2 วิธี ได้แก่ กฎการเลือกงานที่ใช้เวลาน้อยที่สุดทำก่อน และกฎการเลือกงานที่ใช้เวลาทำนานที่สุดทำก่อน มาใช้ในการเรียงลำดับงานจำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ เวลาปฏิบัติงานรวมของการทดสอบ เวลาปฏิบัติงานเวลาในขั้นตอนแรกของการทดสอบ และเวลาปฏิบัติงานตามหัวข้อทดสอบ
ผลการวิจัยจากงานส่วนที่ 1 พบว่ารูปแบบการการมอบหมายงานให้พนักงานและเครื่องทดสอบจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ทั้ง 2 โมเดลให้ค่าคำตอบที่เหมือนกัน โดยยาแต่ละชนิดมีการเลื่อนทดสอบไปในเดือนถัด ๆ ไปมากขึ้น ภายใต้เงื่อนไขยาแต่ละชนิดต้องทดสอบภายใน 4 เดือน โดยมีจำนวนยาที่เลื่อนการทดสอบออกไปจำนวน 2,013 ล็อต ในส่วนของภาระงานที่พนักงานได้รับพบว่ามีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และในเดือนที่ 4 มีจำนวนภาระงานเกิดขึ้นสูงสุด ซึ่งทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลาทั้งเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ จากการจัดตารางการทำงานและวัดผลด้วยตัวชี้วัดประสิทธิภาพ พบว่าการจัดตารางการทำงานจากเวลาปฏิบัติงานเวลาในขั้นตอนแรกของการทดสอบ ด้วยวิธี SPT ให้ผลเฉลยที่ดีที่สุดตามวัตถุประสงค์ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา โดยผลการศึกษานี้เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการจัดตารางการทำงานของพนักงานและเครื่องทดสอบ