Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (SST) และความเข้มข้นคลอโรฟิลล์-เอ (CHL) ตามช่วงลมมรสุมบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยใช้ข้อมูลอุณหภูมิผิวน้ำทะเลแบบช่วงคลื่นยาวที่ตรวจวัดในเวลากลางคืน และข้อมูลความเข้มข้นของ CHL จากดาวเทียม Aqua ระบบ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ในช่วงปี พ.ศ.2558 - 2565 โดยข้อมูลความเข้มข้น CHL ได้ผสานเข้ากับระบบ Ocean Color Climate Change Initiative (OC-CCI) เพื่อลดข้อบกพร่องบางอย่างที่ได้จากดาวเทียม Aqua โดยตรง ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาปัจจัยระดับโลกทางสมุทรศาสตร์ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของค่า SST แตกต่างไปจากค่าปกติบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่ส่งผลกระทบต่อบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยใช้ดัชนี Ocean Nino Index (ONI) เพื่อตรวจสอบอิทธิพลในแต่ละช่วงลมมรสุม จากการวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันบ่งบอกถึงระดับและทิศทางของความสัมพันธ์โดยแสดงความสัมพันธ์แบ่งเป็น 3 ช่วงฤดูมรสุม คือ ช่วงไม่มีลมมรสุม, ช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีค่าสหสัมพันธ์เท่ากับ 0.61, 0.44 และ - 0.44 ตามลำดับ โดยความสัมพันธ์เชิงบวกแสดง SST ค่าที่สูงขึ้นและ CHL มีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย ในทางกลับกันความสัมพันธ์เชิงลบแสดง SST มีค่าลดลงแต่ CHL มีปริมาณเพิ่มขึ้น และจากการประมาณค่า CHL จากค่า SST ในช่วงไม่มีลมมรสุม 27.40 - 30.63 °C ส่งผลให้ค่า CHL อยู่ที่ 2.84 - 4.33 mg/m3, ค่า SST ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ 26.75 - 29.81 °C ส่งผลให้ค่า CHL อยู่ที่ 3.32 - 6.33 mg/m3 และค่า SST ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ 29.0 - 31.38 °C ส่งผลให้ค่า CHL อยู่ที่ 7.73 – 4.65 mg/m3 ทั้งนี้อิทธิพลของดัชนี ONI ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของ SST และ CHL ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงลมตะวันออกเฉียงเหนือ และช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตามลำดับ โดยช่วงไม่มีลมมรสุมไม่ได้รับกระทบจากดัชนี ONI และจากการวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเชิงส่วนโดยขจัดอิทธิพลของดัชนี ONI แสดงค่าสหสัมพันธ์เท่ากับ 0.61, 0.75 และ - 0.36 ตามช่วงลมมรสุม ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่าง SST และ CHL ที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากขจัดของดัชนี ONI ที่เข้ามามีอิทธิพลแต่ละช่วงลมมรสุม