Abstract:
ในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ได้มีการการนำแนวความคิดสำคัญประการหนึ่งเข้ามาใช้ นั่นคือ แนวความคิดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศของรัฐ และบุคคล ดังปรากฏแนวความคิดดังกล่าวแทรกอยู่ใน ข้อตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศหลายฉบับ แต่จากอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีการนำแนวความคิดดังกล่าว ไปกำหนดขึ้นเป็นหลักการเฉพาะเรื่อง การนำหลักการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศของรัฐและบุคคล ไปกำหนดเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศขึ้นโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก ในอนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการมีส่วนร่วมของสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 (อนุสัญญาออร์ฮูส) ทำให้เกิดการตื่นตัวในสังคมระหว่างประเทศในการกำหนดให้หลักการดังกล่าว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐและบุคคล ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อม โดยวิทยานิพนธ์นี้ได้ศึกษาถึงพัฒนาการของหลักการเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ จนกระทั่งได้มีการนำหลักการเข้าถึงข้อมูลสิ่งแวดล้อม ไปกำหนดเป็นอนุสัญญาออร์ฮูส และได้นำหลักการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสิ่งแวดล้อม ในอนุสัญญาออร์ฮูสมาวิเคราะห์ข้อพิพาทระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่าหลักการเข้าถึงข่าวสารสิ่งแวดล้อมตามอนุสัญญาออร์ฮูส สามารถนำไปใช้ในข้อตกลงระหว่างประเทศสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่ง ที่จะส่งผลทำให้มาตรการการบังคับใช้ กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น