Abstract:
งานศึกษาแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านตลาดแรงงานเพื่อรองรับการเติบโตของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินการและสถานการณ์ความคืบหน้า ปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินการของโครงการการพัฒนาทักษะบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล (EEC Model) ผ่านแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ทฤษฎี SWOT Analysis และแนวคิดการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน โดยรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากเอกสารและสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์เชิงลึก จากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้กำหนดนโยบาย 2.ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ 3.ผู้เข้าร่วมโครงการ
ผลการวิจัยพบว่าโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร ได้ถูกขับเคลื่อนโดยคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC-HDC) เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานที่มีทักษะสูงผ่านการขับเคลื่อนอุปสงค์ (Demand Driven) โดยทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรมี 2 รูปแบบ คือ 1.การสร้างคนที่เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติไปพร้อมกันตามแนวทาง Type A และ 2.การพัฒนาคนผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นตามแนวทาง Type B โดยเป้าหมายการเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรในช่วงปี 2562-2566 กำหนดไว้ที่ 475,866 คน แต่ผลิตบุคลากรได้เพียงร้อยละ 3.8 ของจำนวนดังกล่าว สืบเนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์เชิงรุก สถานการณ์วิกฤติโควิด การขาดฐานข้อมูลความต้องการจำนวนและทักษะของแรงงานที่แท้จริงจากผู้ประกอบการทั้ง 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ EEC-HDC จำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด จัดตั้งทีมงานคอยติดตามความก้าวหน้าในการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากองค์กรต่างประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและเงินทุน แนวทางการพัฒนาบุคลากรภายใต้ Type A และ Type B ถือเป็นทางออกในการเตรียมความพร้อมด้านบุคคลากรเพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่ EEC