Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและเปรียบเทียบระดับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน 2) ศึกษาและเปรียบเทียบระดับความสุขในการทำงาน และ 3) ศึกษาภาวะหมดไฟในการทำงานของบุคลากรกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (First Jobber) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นการศึกษาแบบผสมผสาน (Mixed-Method Research) โดยการศึกษาเชิงปริมาณได้ศึกษาจากประชากรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 81 คน เก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ T-test และ One-Way ANOVA สำหรับการศึกษาเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) จำนวน 12 คน โดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (First Jobber) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีระดับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านสติปัญญามีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และด้านการเงินมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด และปัจจัยด้านสำนัก/กอง ที่แตกต่างกันมีผลต่อระดับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ในส่วนของระดับความสุขในการทำงานในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านความพึงพอใจในงานมีค่าเฉลี่ยมากที่สุดและด้านความรื่นรมย์ในงานมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด และปัจจัยสำนัก/กอง และอายุงานที่แตกต่างกันมีผลต่อระดับความสุขในการทำงาน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานบุคลากรกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (First Jobber) ได้แก่ ปัจจัยหัวหน้า ผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหาร ปัจจัยเพื่อนร่วมงาน ปัจจัยที่เกี่ยวกับงาน ปัจจัยด้านค่าตอบแทน สวัสดิการ และปัจจัยวัฒนธรรมองค์การ โดยเมื่อเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานเลือกที่จะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน การพักผ่อนทำกิจกรรมอย่างอื่น หรือเอาตัวเองออกมาจากที่ทำงาน ดังนั้น ผลการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มีต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อธำรงรักษากลุ่มวัยเริ่มทำงาน (First Jobber) ให้คงอยู่กับองค์การ อาทิ การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอนการทำงาน การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานเพื่อให้เกิดความพึงพอใจส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารกับบุคลากร