Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาของการนำนโยบาย UCEP ไปปฏิบัติ โดยใช้วิธีการศึกษาจากการค้นคว้าเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สื่อสังคมออนไลน์ และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย UCEP จำนวน 7 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย 2) กลุ่มผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ 3) กลุ่มผู้รับประโยชน์จากนโยบาย โดยใช้ทฤษฎีการนำนโยบายไปปฏิบัติจากบนลงล่าง (Top-down Theory of Policy Implementation) ตามตัวแบบกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติของแวน มีเตอร์ และแวน ฮอร์น ผลการศึกษาพบว่าปัญหาของการนำนโยบาย UCEP ไปปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 6 ประเด็นดังนี้ 1) มาตรฐานและวัตถุประสงค์ของนโยบายยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควรทั้งในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ การวินิจฉัยระดับอาการของความฉุกเฉิน และการนำส่งผู้ป่วย 2) ทรัพยากรของนโยบายมีไม่เพียงพอ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างองค์การยังเกิดปัญหา การสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับนโยบายยังไม่ละเอียดครอบคลุม 4) องค์การที่นำนโยบายไปปฏิบัติ มีความพร้อมที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติ แต่ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง 5) เงื่อนไขและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในตัวของนโยบาย UCEP และ 6) ความร่วมมือหรือการตอบสนองของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเท่าที่ควร ผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำนโยบาย UCEP ไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพและตอบสนองการต่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม การทำนโยบาย CO-PAY การรวมระบบคู่สายต่าง ๆ เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน และการจัดโครงการให้ความรู้กับประชาชาเกี่ยวกับนโยบาย UCEP เป็นต้น