Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความคิดเห็นของผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ขอรับการส่งเสริมผ่านระบบขอรับการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย เกี่ยวกับการเปิดใช้ระบบขอรับการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย รวมถึงศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคในการเปิดใช้ระบบ เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานมากยิ่งขึ้น โดยการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ผู้ปฏิบัติงานในกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย และผู้ขอรับการส่งเสริมผ่านระบบขอรับการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ในปีงบประมาณ 2566
ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ขอรับการส่งเสริม มีความคิดเห็นว่าการเปิดใช้ระบบช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละด้านดีมากขึ้น กล่าวคือด้านคุณภาพงาน (Quality) พบว่ามีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น, ด้านปริมาณงาน (Quantity) พบว่าทำให้ปริมาณงานและจำนวนผู้ปฏิบัติงานลดลง, ด้านเวลา (Time) พบว่าช่วยลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานลง, และด้านค่าใช้จ่าย (Costs) พบว่าถึงแม้มีต้นทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบ แต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและจำเป็น เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขอรับการส่งเสริม และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานในระยะยาว อย่างไรก็ตามข้อค้นพบเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและอุปสรรค ผู้วิจัยพบว่าผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ขอรับการส่งเสริม มีมุมมองแตกต่างกัน กล่าวคือผู้บริหารมองว่าปัญหาและอุปสรรคเกิดจากการที่หน่วยงานอยู่ในระหว่างการจัดทำนโยบายส่วนบุคคล ซึ่งทำให้ฟังก์ชั่นของระบบบางส่วนไม่สามารถใช้งานได้ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานมองว่าปัญหาและอุปสรรคส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างการเปิดใช้ระบบและหลังจากการปิดระบบไปแล้ว รวมถึงผู้ขอรับการส่งเสริมซึ่งพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคระหว่างการเปิดใช้ระบบเช่นกัน ในการนี้งานวิจัยดังกล่าวสรุปแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงระบบจำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การพัฒนาและปรับปรุงระบบขอรับการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย 2) การพัฒนาและปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงาน และ 3) การพัฒนาบุคลากรของกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย