Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามว่านโยบาย Thai SELECT (พ.ศ. 2561 - 2566) ส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแต่ละกลุ่มเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรและผลลัพธ์ของนโยบายเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมหรือไม่ โดยใช้แนวคิดวงจรนโยบายในเรื่องการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมทั้งแนวคิดของความเสมอภาคมาเป็นแนวทางในการทำวิจัย งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ ซึ่งข้อค้นพบของงานวิจัยชิ้นนี้คือ นโยบาย Thai SELECT ส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ได้แก่ ร้านอาหารที่ประกอบอาหารไทยแบบดั้งเดิม ร้านอาหารขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ และร้านอาหารต้นทุนสูงที่พร้อมเข้ารับการประเมินตามเกณฑ์มีสิทธิได้รับการคัดเลือกมากกว่า เกณฑ์การคัดเลือกของโครงการมีความไม่แน่นอนส่งผลให้มีร้านอาหารถูกตัดสิทธิออกจากโครงการ ร้านอาหารที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีอำนาจในกระทรวงพาณิชย์ชื่นชอบจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินการสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นกรณีพิเศษ และร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองจะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการมากกว่า ดังนั้น ผลลัพธ์ของนโยบาย Thai SELECT จึงเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม แต่เนื่องจากนโยบายดังกล่าวไม่บรรลุวัตถุประสงค์และไม่มีประสิทธิผลมากนักจึงทำให้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไม่มากและทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมเกิดขึ้นไม่มากเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะคือ หากผู้กำหนดนโยบายต้องการให้นโยบายบรรลุผลควรประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เข้มแข็ง พัฒนาตราสัญลักษณ์ที่มีอยู่เดิมให้บรรลุวัตถุประสงค์ก่อนที่จะขยายขอบเขตไปช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มอื่น และควรสนับสนุนผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคและราคาวัตถุดิบจึงจะทำให้นโยบาย Thai SELECT สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารได้มากขึ้น