Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนร่วม เหมือนหรือต่างกันอย่างไรในกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย (พ.ศ. 2566 - 2570) รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีระดับการมีส่วนร่วมในกระบวนการของการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2570) ระดับใด โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพจากผู้ให้ข้อมูล 6 คน จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ผลการศึกษาพบว่า ระดับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) อยู่ในระดับ สร้างความร่วมมือ (ระดับที่ 4 จาก 5 อันดับ) โดยระดับการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนไม่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองภาคส่วนนั้นมีประเด็นในการมีส่วนร่วมที่ต่างกัน โดยภาคเอกชนส่วนมากจะมีประเด็นในส่วนของการสะท้อนปัญหาหน้างานที่ได้ไปพบมาจากการใช้งานระบบโลจิสติกส์ที่ภาครัฐเป็นผู้พัฒนา ส่วนภาครัฐจะมีประเด็นการมีส่วนร่วมในส่วนของการตอบสนองต่อการดำเนินการของตนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากส่วนใหญ่ภาครัฐมักจะชำนาญงานในส่วนของตนเอง และไม่ก้าวก่ายงานของหน่วยงานอื่น อย่างไรก็ตาม แม้ระดับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะอยู่ในระดับที่สูง แต่ระดับการมีส่วนร่วมดังกล่าวจำกัดเพียงการมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวชี้วัดที่ต้องการบรรลุเท่านั้น งานวิจัยพบว่า แม้ว่าแผนฉบับดังกล่าวจะเป็นแผนปฏิบัติการ แต่เนื้อหาของแผนไม่ได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุตัวชี้วัดที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดแนวทางการบรรลุตัวชี้วัดจึงยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของแผนในขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติ