Abstract:
สารนิพนธ์เรื่องนี้ มุ่งตอบคำถามการนำการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานไปปฏิบัติ เพื่อลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าขาออกที่ติดเงื่อนไขความเสี่ยงมีความเหมาะสมอย่างไร รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของการนำการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์แนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการนำการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไปปฏิบัติต่อไป โดยอาศัยกระบวนทัศน์การจัดการภาครัฐแนวใหม่และแนวคิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย ซึ่งการวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจาก 2 ส่วน ได้แก่ การวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน และการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนำการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานไปปฏิบัติ จำนวน 5 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง รวมถึงการเก็บข้อมูลประกอบการศึกษาระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้าจากระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ผลการศึกษาพบว่า การนำการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานไปปฏิบัติ เพื่อลดระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้าขาออกที่ติดเงื่อนไขความเสี่ยง มีความเหมาะสม โดยเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ เนื่องจากการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นการกำหนดตัวชี้วัดผลการบริหารผลงานและการบริหารผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ปัญหาและอุปสรรคของการนำการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานไปปฏิบัติ ได้แก่ ปัจจัยด้านเครื่องเอกซเรย์ ปัจจัยด้านสินค้า ปัจจัยด้านบุคลากร ปัจจัยด้านสถานที่ และปัจจัยด้านกฎหมาย อย่างไรก็ตาม แนวทางและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการนำการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานไปปฏิบัติ ภาครัฐควรกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานต้องมีตัวชี้วัดที่เหมาะสมและชัดเจน ทำให้ภาครัฐและประชาชนสามารถติดตามและประเมินผลคุณภาพในการให้บริการของภาครัฐได้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดปัญหาและอุปสรรคของการบริการสาธารณะ เพื่อให้ภาครัฐสามารถตอบสนองประโยชน์สาธารณะและสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน