Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาบทบาทของสหภาพยุโรปต่อพัฒนาการของประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) โดยศึกษาพลวัตเชิงนโยบายหลังจากที่ประเทศไทยรับรองเป้าหมาย SDGs และพัฒนาการด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทย และศึกษาแนวคิด ผลประโยชน์ และข้อท้าทายของสหภาพยุโรปภายใต้การส่งออกความช่วยเหลือมายังประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าพลวัตด้านการขับเคลื่อนนโยบายให้สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs เกิดขึ้นทั้งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง เกิดการยกระดับบทบาทคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) อีกทั้งองค์ความรู้และงบประมาณที่ได้รับยังส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยับบทบาทไปเป็นผู้ให้สะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนา และการสร้างบทบาทผู้ให้ในเวทีโลก แต่ทั้งนี้ปัญหาด้านศักยภาพการเก็บข้อมูล ตัวชี้วัดที่ไม่สัมพันธ์กับบทริบทสังคมไทย รวมถึงการย่อยเป้าหมาย SDGs ลงไปในระดับท้องถิ่นยังคงเป็นข้อท้าทายของประเทศไทย ในส่วนของการศึกษาบทบาทและผลประโยชน์ของสหภาพยุโรปพบว่าเมื่อวิเคราะห์จากกรอบแนวคิดอำนาจเชิงปทัสถาน (Normative Power Europe) การรักษาบทบาทผู้นำเชิงปทัสถานเป็นจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้ประเทศผู้รับปฏิบัติตาม เชื่อมโยงถึงการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และการเป็นผู้ให้ในเวทีโลก ซึ่งประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการส่งออกความช่วยเหลือและสร้างความร่วมมือ ทั้งนี้การหยุดชะงักกิจกรรม และสัดส่วนเงินบริจาค ODA ที่ลดลงเนื่องจากวิกฤติ COVID-19 รวมถึงการทำรัฐประหารภายในประเทศผู้รับทำให้สหภาพยุโรปจำเป็นต้องระงับความร่วมมือส่งผลให้อำนาจเชิงปทัสถานของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มแผ่วเบาลงในพื้นที่ดังกล่าว