Abstract:
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการประเมินผลนโยบายด้านการพัฒนาชุมชนของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การบริหารราชการของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกิจกรรมผู้ว่าฯ พบประชาชนของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กับผู้ว่าฯ สัญจรของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการศึกษาเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ข้าราชการประจำ จำนวน 12 คน ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 คนรวมเป็น 24 คน ใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและการนำเสนอเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า นโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มีความสอดคล้องกับตัวแบบชนชั้นนำ ของ Dye (2007) เนื่องจากในการกำหนดนโยบายการบริหารงานกรุงเทพมหานครของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เข้าสู่ตำแหน่งโดยการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ก่อนได้รับแต่งตั้งไม่ได้มีการนำเสนอนโยบายให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครตัดสินใจเลือก และในการดำเนินโครงการที่สำคัญที่มีงบประมาณมาก หรือเมกะโปรเจกต์ ก็มีการเตรียมการโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกลุ่มชนชั้นนำจะกำหนดนโยบายโดยอาศัยค่านิยมของตนเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจนโยบาย ถือว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจกิจกรรมการพัฒนาเมือง และไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ชนชั้นนำจึงมีบทบาทในการกำหนดความคิดเห็นของประชาชนมากกว่าที่ประชาชนจะกำหนดความคิดเห็นของชนชั้นนำ โดยประชาชนไม่ได้กำหนดนโยบาย ข้าราชการทำหน้าที่เพียงนำนโยบายที่กำหนด โดยชนชั้นนำไปสู่ประชาชนเท่านั้น ในส่วนของการประเมินผลนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองหลังจากดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาครบ 1 ปีที่ได้ประกาศแผนขับเคลื่อน กทม. ปี 2561 โดยใช้กรอบการทำงาน 100 วัน 200 วัน 300 วัน จนถึง 1 ปี ส่วนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์มีความสอดคล้องกับตัวแบบระบบ ของ Dye (2007) เนื่องจากการกำหนดนโยบายการบริหารกรุงเทพมหานครของ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์นั้น ได้จัดทำนโยบายในภาพใหญ่ และนโยบายรายเขตหรือพื้นที่ ไม่ได้ใช้นโยบายเดียวเหมาะรวมทุกท้องที่ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ตัวของประชาชน หรือที่เรียกว่า "ปัญหาเส้นเลือดฝอย" มากกว่าคิดถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ ในการกำหนดนโยบายจะมาจากปัญหาจริงของชาวเมืองกรุงเทพมหานคร ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ อยู่บนรากฐานของข้อมูลสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ร่วมกับนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษาโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ได้นำเสนอนโยบายมากถึง 216 ข้อ ภายใต้คำขวัญ "สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" โดยจัดกลุ่มนโยบายไว้ 9 มิติ เพื่อสร้าง "กรุงเทพฯ 9 ดี" ประกอบด้วย ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี และเดินทางดี ในการนำนโยบายไปปฏิบัติผ่านกระบวนการวางแผนและวิธีการงบประมาณโดยการผลักดันนโยบาย “กรุงเทพ 9 ดี” ลงสู่แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้าที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์จะดำรงตำแหน่ง จึงทำการปรับแผนปฏิบัติการโดยการประชุมทำความเข้าใจและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ 9 ดี ให้หน่วยงาน ในสังกัดกรุงเทพมหานครทบทวนภารกิจของหน่วยงานที่สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้งภารกิจที่เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุน และจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) โดยระบุเป้าหมายและผลที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการ/กิจกรรมในแต่ละช่วงเวลา เช่น ระยะเวลา 100 วัน ระยะเวลา 200 วัน และระยะเวลา 300 วัน และ 1 ปี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวัดผล ส่วนกิจกรรมผู้ว่าฯ พบประชาชน และกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมิได้มี ส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ทั้งนี้ เนื่องมาจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงไม่ได้รวบรวมข้อมูลจากประชาชนในการกำหนดนโยบายโดยอาศัยเวทีกิจกรรมผู้ว่าฯ พบประชาชน ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้ว่าจะมีการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนไว้เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็เป็นการรวบรวมข้อมูลและนำเสนอนโยบายต่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานครก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้น จึงไม่ได้มีการกำหนดนโยบายโดยอาศัยกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจรแต่อย่างใด