Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาและความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกากับออสเตรเลียในห้วงปีค.ศ.2017-2023 ตลอดจนผลกระทบด้านความมั่นคงภายในภูมิภาคอันเกิดจากผลลัพธ์การดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยผู้วิจัยจะใช้กรอบทฤษฎีสัจนิยมเชิงป้องกันเพื่อประกอบการวิเคราะห์บทบาทและพฤติกรรมของสหรัฐอเมริกา
จากการศึกษาด้วยกระบวนการวิจัยเชิงเอกสารควบคู่กับพิจารณาสหรัฐอเมริกาผ่านกรอบการวิเคราะห์ได้ข้อค้นพบว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนทัศนะที่มีต่อพฤติกรรมของจีนในบริบทการเป็นภัยความมั่นคงซึ่งคุกคามเสรีภาพและเสถียรภาพในระบบระหว่างประเทศ สหรัฐอเมริกาจึงดำเนินนโยบายโดยมีออสเตรเลียเป็นพันธมิตรผู้ให้ความร่วมมือ ส่งผลให้ในห้วงปีค.ศ.2017-2023 นั้น เกิดผลลัพธ์จากการดำเนินงานและความสัมพันธ์ดังกล่าว ได้แก่ ความร่วมมือด้านความมั่นคงของรัฐมหาอำนาจทั้งสี่ (The Quad) และความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงฉบับใหม่ (AUKUS) ซึ่งสร้างข้อกังวลว่าอาจยั่วยุให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบจากจีนและสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต่อสถานการณ์ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความกังวลถึงผลลัพธ์เชิงรุกนั้น เมื่อพิจารณาข้อความที่ระบุในเอกสารสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาตลอดจนคำแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องพบว่า สหรัฐอเมริกามองท่าทีและบทบาทตนเองเป็นเพียงการตอบสนองต่ออิทธิพลของจีนซึ่งคุกคามความมั่นคงในภูมิภาค ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่โดยพัฒนาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับออสเตรเลียผ่านการประชุม AUSMIN ทั้งยังพลิกบทบาทเพื่อร่วมมือกับจีนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อจัดการต่อสิ่งที่ตนมองเป็นภัยความมั่นคง