Abstract:
ญี่ปุ่นเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในเดือนมีนาคม 2013 เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจคือ การใช้ TPP เป็นส่วนหนึ่งแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย Abenomics ของรัฐบาลอาเบะ และบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงคือ การใช้เป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลกับการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของจีน และกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2017 รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวจากความตกลง TPP รัฐบาลอาเบะจึงพยายามโน้มน้าวให้สหรัฐฯ กลับมาเข้าร่วม พร้อมกับดำเนินบทบาทนำในการเจรจาระหว่างสมาชิกที่เหลือ 10 ประเทศ จนนำไปสู่การลงนามบนความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในเดือนมีนาคม 2018 ในกรณีของการดำเนินบทบาทนำอย่างกระตือรือร้นของรัฐบาลญี่ปุ่น ภายหลังการถอนตัวของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การศึกษาการใช้ความตกลง CPTPP เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการถ่วงดุลกับการขยายอิทธิพลของจีน ผ่านแนวคิดการถ่วงดุลอำนาจแบบอ่อน (soft balancing) และแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ (economic security) เพื่อแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการดำเนินนโยบายของญี่ปุ่น สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงอธิบายและวิเคราะห์การใช้ CPTPP เป็นเครื่องมือ โดยการใช้บทบัญญัติที่มีมาตรฐานระดับสูง ประกอบกับใช้เป็นช่องทางการกลับมามีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นพื้นที่สำหรับประเทศที่มีค่านิยมเดียวกัน และใช้ในการบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น