Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจที่มียศและพยาบาลวิชาชีพที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่เกี่ยวข้องกับการมียศและไม่มียศของพยาบาลวิชาชีพ และ 2) เสนอแนะแนวทางการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่เกี่ยวข้องกับการมียศและไม่มียศของพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดเหล่าทัพ และพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 8 ท่าน
ผลการศึกษาพบว่า 1) ความแตกต่างระหว่างพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดเหล่าทัพและพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านลักษณะงาน แทบจะไม่แตกต่างกันแต่สิ่งที่พยาบาลวิชาชีพในสังกัดเหล่าทัพปฏิบัติงานเพิ่มมา คือ ดูแลสุขภาพข้าราชการในสังกัดเหล่าทัพ ด้านความก้าวหน้าในวิชาชีพ ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับตำแหน่ง สายงานที่ตนอยู่ ด้านสวัสดิการ ได้รับสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลางเหมือนกัน 2) ความคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพต่อเรื่องพยาบาลวิชาชีพที่บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจควรที่จะมียศ เป็นไปในทางเห็นด้วยกับการมียศตำแหน่ง 3) ความคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพต่อพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่เกี่ยวกับข้าราชการตำรวจไม่มียศในส่วนของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลตำรวจ มีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และ 4) แนวทางการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ในเรื่องพยาบาลวิชาชีพที่บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจไม่สามารถมียศได้ พบว่า ควรมีการเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง การปรับฐานเงินเดือนหรือค่าเวรพิเศษนอกเวลา การเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอต่อความต้องการ และการปรับสวัสดิการ ให้เหมือนกับข้าราชการที่บรรจุในสังกัดกระทรวงฯ ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการพบปัญหาและอุปสรรค คือ ผู้เข้าร่วมการศึกษางานวิจัยมีจำนวนน้อยและศึกษาเฉพาะกลุ่มพยาบาลวิชาชีพได้รับบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดเหล่าทัพและพยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง ได้ในบางส่วนของเนื้อหา ไม่ครอบคลุมพยาบาลวิชาชีพสังกัดอื่นๆ จากการศึกษามีข้อเสนอแนะ คือ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดโดยการสอบถามความคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพในสังกัดกรุงเทพมหานคร หรือพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ควรสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และหาแนวทางในการรับมือร่วมกันของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ในเรื่องความมั่นคงในอาชีพที่มีต่อแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานของบุคลากรในองค์กรภาครัฐและป้องกันภาวะสมองไหลจากหน่วยงานภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน