Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งตอบคำถามเกี่ยวกับสาเหตุที่มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของภาครัฐไทยไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุปทานและอุปสงค์บุหรี่ไฟฟ้าภายในประเทศได้ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการบังคับใช้มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างไร โดยวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปัจจัยในการนำนโยบายไปปฏิบัติตามทฤษฎีของ Van Meter และ Van Horn งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเน้นเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในมาตรการทั้งหน่วยงานภาครัฐผู้มีหน้าที่บังคับใช้มาตรการและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ การศึกษาพบว่า สาเหตุที่มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของภาครัฐไทยไม่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุปทานและอุปสงค์บุหรี่ไฟฟ้าภายในประเทศได้นั้น เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยด้วยกันคือ (1) สภาพตลาดบุหรี่ไฟฟ้าต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของการบังคับใช้มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้การยอมรับในสินค้าบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งทำให้ความเชื่อที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าควรเป็นยาสูบทางเลือกที่ถูกกกฎหมายจึงมีอิทธิผลต่อสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ (2) สภาพตลาดบุหรี่ไฟฟ้าภายในประเทศส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลของการบังคับใช้มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น แหล่งตลาดบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ออนไลน์เป็นหลักจึงยากต่อการบังคับใช้มาตรการ หรือการที่ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าภายในประเทศมีลักษณะที่เปิดกว้างและสามารถทำรายได้ให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก จึงดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาในแวดวงธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของผลการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการบังคับใช้มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้านั้น พบ 3 ปัญหาหลักด้วยกัน คือ (1) การทุจริตคอร์รัปชั่นและการถูกแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ (2) คุณลักษณะของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและระบบราชการไทยที่มีอยู่เดิม เช่น ข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ การต้องแบกรับหน้าที่รับผิดชอบหลายหน้างานของเจ้าหน้าที่ หรือความไม่สม่ำเสมอในการบังคับใช้มาตรการ และ (3) การไม่ยอมรับในมาตรการของผู้คนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง