Abstract:
งานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงานของวิศวกรจราจรทางอากาศ กลุ่มงาน ATSEP 2) ความแตกต่างระหว่างปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลกับระดับความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงาน และ 3) แนวทางการจัดการกับความเครียดและความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการปฏิบัติงาน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านแบบสอบถาม จำนวน 161 คน ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ ดังนี้
1) ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ สภาพแวดล้อม ครอบครัว และงาน ตามลำดับ ในขณะที่ ปัจจัยที่เกี่ยวกับปัจเจกบุคคลไม่ส่งผลต่อระดับความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2) สถานภาพสมรสที่แตกต่างกันส่งผลให้ระดับความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงานแตกต่างกัน ในขณะที่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ระดับตำแหน่ง และอายุการปฏิบัติงานที่แตกต่างกันส่งผลให้ระดับความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกัน
3) แนวทางการจัดการความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงานด้วยตนเอง ได้แก่ การทำงานอย่างเป็นระบบและพัฒนาตนเอง การพักผ่อน การปรึกษาผู้ที่ไว้วางใจ และการใช้ธรรมะ สำหรับแนวทางการจัดการความเครียดและความเหนื่อยล้าในการปฏิบัติงานโดยองค์กร ได้แก่ การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก การออกแบบองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น