Abstract:
บทความวิจัยนี้ศึกษาเรื่องนโยบายผู้ลี้ภัยของประเทศไทยในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่าง ค.ศ. 2014-2022 โดยมุ่งศึกษาปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจดำเนินนโยบายผู้ลี้ภัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศ โดยใช้กรอบการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ระดับรัฐ และระดับระหว่างประเทศ เป็นกรอบแนวคิดหลัก และการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้านผู้ลี้ภัยดังกล่าวได้ยกระดับขีดความสามารถของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศหรือไม่ อย่างไร ผู้วิจัยพบว่าระดับระหว่างประเทศคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายผู้ลี้ภัยของประเทศไทยมากที่สุดโดยเฉพาะสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ย่อมส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลความชอบธรรม (Legitimacy Deficit) ดังนั้นรัฐบาลย่อมต้องแสดงออกในด้านนโยบายเพื่อส่งเสริมความชอบธรรมให้กับตนเอง จึงได้มุ่งเน้นในด้านการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่เสริมสร้างความชอบธรรมได้มากยิ่งขึ้นทั้งภายในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ นโยบายผู้ลี้ภัยจึงเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อยกระดับขีดความสามารถของรัฐบาลในเวทีระหว่างประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา ทำให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนนโยบายผู้ลี้ภัยจากการวางตัวเป็นกลาง นำไปสู่การมุ่งให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมากยิ่งขึ้น โดยพยายามมุ่งพัฒนาขีดความสามารถในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ การทูต การศึกษา สาธารณสุข และการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในด้านอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและความปลอดภัยให้กับผู้ลี้ภัย รวมถึงการสร้างความชอบธรรมให้กับประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ